“ครูต้อ” ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม บอกว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตามประกาศของรัฐบาลที่มีปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก จากเด็กอ่อน-เด็กเล็กที่เคยมาอยู่กับมูลนิธิฯ เดิมเด็กเหล่านี้วิ่งเล่นอยู่ในกองขยะ เพราะพ่อแม่มีอาชีพเก็บขยะขาย แต่เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กยากจน พวกเขาจะได้รับโอกาสในการเล่น ได้รับการกอด การสัมผัสจากครูที่เขาดูแล
“ครูต้อ” ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม
“พอสิ่งเหล่านี้มันหายไป ไม่ใช่เดือนเดียว แต่สถานรับเลี้ยงเด็กถูกปิดมา 5 เดือนแล้ว จากที่เด็กได้รับการกระตุ้นให้ได้คิด ได้เล่น ได้เรียนรู้ พอมันหายไป สมองก็หยุดพัฒนา จะต่อมันก็ค่อนข้างยาก
“เด็กเล็กเขาคืออนาคตของประเทศ ถ้าวันนี้เขา 5 ขวบ อีก 20 ปี เขาจะเป็นผู้ใหญ่อายุ 25 ปี เป็นอนาคตของประเทศ ถ้าฐานไม่แข็งแรง สมองเรียนรู้ช้า เขาจะเก่งได้ไหม เขาจะมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นได้ไหม ในเมื่อเขาถูกทิ้ง ขาดรัก มันก็จะเจอกับมนุษย์ที่มีปัญหา”
ก่อนที่สถานการณ์โควิดจะมาเยือน มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมที่ครูต้อทำหน้าที่เป็นหัวเรือมีหน้าที่รับดูแลเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัยเป็นหลัก เป้าหมายของพวกเธอโฟกัสไปที่กลุ่มครอบครัวยากจน-ขาดโอกาส แต่เมื่อโควิดระบาดและรัฐบาลมองไม่เห็นว่าสถานรับเเลี้ยงเด็กจำเป็นอย่างไรต่ออนาคตของชาติ การสั่งปิดแบบหว่านแหจึงทำให้เด็กๆ ของครอบครัวที่เต็มไปด้วยความเปราะบางต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่มีใครการันตีว่าเด็กจะรอดจากการติดเชื้อและได้รับการดูแลอย่างดี
ครูต้อบอกว่า ผลกระทบจากกลุ่มครอบครัวที่เธอทำงานด้วยเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเป้าหมายหลักอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ขวบ ส่วนใหญ่สภาพบ้านของเด็กอยู่ในบริเวณที่คัดแยกขยะ หรืออยู่ในชุมชนที่แออัดมาก บางครอบครัวอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็กที่แออัดกันหลายคน ไม่มีโอกาสแยกห้องได้ พอโควิดเข้ามา เด็กๆ ที่พวกเธอรับดูแลติดโควิดจากที่บ้านไป 63 คน
เธอยกตัวอย่างพื้นที่สลัมคลองเตย เพราะเป็นพื้นที่คลาสสิก ทั้งใหญ่และแออัดไปด้วยคนยากจนจำนวนมาก ประเด็นคือเมื่อพ่อแม่ของเด็กๆ ติดโควิดและทำการกักตัวอยู่ที่บ้าน เด็กๆ ก็ต้องพึ่งพาตนเอง
“เด็กเล็กๆ 4-5 ขวบเดินออกมาขอข้าวกิน ครูมีข้าวกินไหม หนูหิวข้าว กลายเป็นเด็กต้องหาทางช่วยตัวเองเพราะพ่อแม่ของเขาป่วย”
คำถามคือทำไมครอบครัวยากจนเป็นกลุ่มเปราะบางที่เผชิญความเสี่ยงในสถานการณ์โควิดมากกว่าคนอื่นๆ มากกว่าเดิม
ครูต้อให้ภาพว่า ถ้าเป็นครอบครัวที่อยู่ในสภาพพ่อแม่มีอาชีพคัดแยกขยะ เก็บขยะขาย สิ่งที่พวกเขาเจอคือขยะที่ชุมชนทิ้งลงมาและกระจายไปทั้งทางตรงและทางอ้อม และแน่นอนในขยะเหล่านั้นย่อมเต็มไปด้วยเชื้อโควิด เมื่อเด็กอยู่กับกองขยะ ลานคัดแยกขยะ เมื่อพ่อแม่ติดเชื้อ ลูกก็ไม่รอด
เมื่ออาชีพของหลายๆ ครอบครัวที่ต้องตรากตรำอยู่แล้วต้องหยุดชะงักลง ครูต้อบอกว่า บางทีพ่อแม่เด็กไม่มีอาหาร ก็ไปเก็บเศษอาหารที่สังคมทิ้งไว้ทั้งอาหารที่หมดอายุ อาหารเหลือมากิน เราจึงเห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน
หนึ่งตัวอย่างของครอบครัวที่ไม่สามารถพาลูกมาฝากเลี้ยงไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็กได้ พวกเขาต้องอยู่ดูแลกันเองตามลำพังในห้องเช่าเท่ารูหนูย่านรัชดาฯ--แม้เป็นคำเปรียบเปรยเก่า แต่กลับมาจริงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ครอบครัวของเจนอยู่กันสี่คนพ่อแม่และลูกๆ
เธอบอกว่า หลังจากตกงานประจำที่เธอกับสามีเคยทำ ตอนนี้หันมารับจ้างทำริบบิ้นได้ค่าแรงเป็นรายวัน แต่เมื่อหันไปมองชีวิตน้อยๆ ที่กำลังเติบโต ทั้งค่านม ค่าข้าว ค่าผ้าอ้อม ค่าเช่าห้อง พอถึงสิ้นเดือนจะว่าเหมือนสิ้นใจก็ไม่เกินเลย
“ช่วงนี้พยายามลดนมลูกลง หันมาต้มน้ำข้าวให้แทน ถ้าลำบากมากก็จะชงนมผสมน้ำมากหน่อยแทน ก็ได้แต่ทนไป ไม่รู้จะทำไงเหมือนกัน บางเดือนไม่เหลือก็ต้องยืมเขา” เจนเล่าเสียงเรียบนิ่ง
สิ่งที่ทีมครูต้อพอช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางได้ โดยไม่สามารถรัฐบาลได้ พวกเธอหันมาทำอาหารและนมที่ได้รับบริจาคมาเอาเข้าไปให้ตามบ้านกลุ่มเปราะบางตามชุมชนสลัมต่างๆ เพราะเธอมองว่า “ทำยังไงให้เด็กๆ อิ่ม ไม่อด เราไม่สามารถจะละเลยเด็กๆ ให้นอนรอความตายได้”
แต่แม้จะช่วยเหลือเต็มที่เท่าที่ศักยภาพของทีมมี ข้อจำกัดสำคัญที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ก็คือเคสที่มีการพลัดพรากเกิดขึ้น
ครูต้อเล่าถึงครอบครัวหนึ่งที่สะเทือนใจของเธอ เป็นครอบครัวที่อยู่ในสลัมย่านหนองแขม โดยพ่อไปทำงานที่สมุทรสาครแล้วติดโควิด เมื่อลามมาที่แม่ และเสียชีวิตไปทั้งคู่ เด็กที่เพิ่งคลอดออกมาได้ เพียง 5 เดือนกลายเป็นเด็กกำพร้าทันที เด็กเหลือญาติเพียงคนเดียวคือป้า แต่ป้าก็เป็นคนพิการ
“แม้เด็กจะอายุ 5 เดือน ยังเห็นความสูญเสียไม่เท่าผู้ใหญ่ แต่เรามองเห็นอนาคตของเขาแล้วสะเทือนใจ เรารู้ว่ามันจะลำบากมาก เพราะว่าการที่เด็กจะอยู่กับป้าที่ขาพิการมันมีข้อจำกัดเต็มไปหมด มันเกิดคำถามว่าเด็กจะอยู่ยังไงใช่ไหม และเมื่อเราดูภาพรวมของประเทศ ตอนนี้มีเด็กกำพร้าพ่อแม่จากช่วงโควิดไปกว่า 300 คนแล้ว”
ไม่ใช่เพียงการเลี้ยงดูที่น่ากังวลในอนาคต แต่ครูต้อมองว่า ความสูญเสียจะกลายเป็นบาดแผลทางใจของเด็กไปทั้งชีวิต
โจทย์ต่อมาที่ครูต้อพยายามกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ คือเรื่องพัฒนาการ เธอบอกว่าโดยธรรมชาติ เด็กต้องได้เล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้เรียนรู้เข้าสังคมกับเพื่อน ได้ฝึกใช้มือ ขา แขน สายตา พอสิ่งเหล่านี้หายไป ความร่าเริงก็หายไป อารมณ์ของเด็กที่เธอเห็นชัดในช่วงโควิดกลายเป็นความซึมและเฉื่อยชาแทน ไปจนถึงภาวะจินตนาการที่เด็กๆ มักมีก็หายไปเช่นกัน
ทำไมพัฒนาการเด็กถึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจควรสนใจ ครูต้ออธิบายว่าเด็ก 5 ขวบปีแรกเป็นช่วงที่สมองและร่างกายจะมีพัฒนาการที่เร็วที่สุด หลังจากนั้นก็จะช้าลงตามลำดับวัย
“สังเกตไหม เด็กตัวแดงๆ จากนอนมาคว่ำ มาคืบมาคลาน มาเกาะมายืน มาเดินมาวิ่ง ช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงนี้คือพัฒนาการที่เร็วมาก แต่ถ้าช่วงพัฒนาการนี้ผ่านไปแล้วและไม่ได้ดูแลให้ดีพอ เราจะมีอนาคตของชาติที่เป็นผู้ใหญ่แบบไหนลองจินตนาการดู” ครูต้อตั้งคำถามกลับชวนขบคิด
เมื่อภาวะกำพร้าเข้าถาโถมชีวิตวัยเยาว์ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ครูต้อบอกว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ สิ่งเหล่านี้คือเครื่องการันตีความมั่นคงของเด็ก ถ้ามันหายไป ถ้าสังคมเต็มไปด้วยเด็กขาดรัก เราจะมีผู้ใหญ่ที่รักใครเป็น”
แม้จะเต็มไปด้วยความกังวลถึงอนาคตและสถานการณ์โควิดที่ควบคุมยาก แต่ครูต้อทิ้งท้ายว่า วันนี้เรามีบทเรียนแล้ว สิ่งที่เราควรทำทันทีเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย นอกจากเปิดโรงเรียนให้เด็กได้กลับไปอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ คือ การลงทุนในวัยเด็กจากภาครัฐ
ในเบื้องต้น พ่อแม่ครูผู้ปกครองต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง เร่งเยียวยาเด็กกำพร้า-ผู้ปกครองที่ซึมเศร้า เร่งจัดหางานให้ผู้ปกครองมีรายได้ และมีสวัสดิการถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาทตั้งแต่แรกเกิดไปถึง 6 ขวบ โดยพ่อแม่ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน
ผู้มีอำนาจทุกสมัยมักกล่าวว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” คำถามคือเราจะสร้างอนาคตอย่างไร
ภาพ : ณปกรณ์ ชื่นตา