จากการแถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายภาคีเพื่ิอรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2562 โดยมีฝ่ายการเมืองร่วมหารือ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา, พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ
รศ.โคทม อารียา ประธานภาคีเพื่ิอรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องการแก้ไขเพื่อเปิดทางคือ มาตรา 256 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ของการแก้รัฐธรรมนูญว่า จะต้องมี ส.ว. เห็นด้วย 84 คน ได้มีการยื่นคำร้องขอเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว เราจะต้องหารายชื่อมา 50,000 ชื่อ
รศ. โคทม กล่าวว่า โมเดลที่ทางกลุ่มผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะคล้ายๆ กับการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อปี 2540 อย่างไรก็ดี จะต้องปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาก่อน และฟังเสียงนายชวนว่าจะต้องไปหารายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร ทางภาคีฯ ก็จะต้องไปดำเนินการต่อไป ขณะนี้ได้มีการประสานงานไปยังนายชวนแล้ว แต่นายชวนมีปัญหาด้านสุขภาพ อาจจะเลื่อนไป 3 วัน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในสัปดาห์นี้
เมื่อถามว่า ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รศ.โคทม กล่าวว่า เราก็เปิดใจกว้าง ยังไม่ถึงขั้นว่าต้องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ขอโอกาสไปปรึกษาหารือกันก่อน ทำอะไรมากไม่ได้ หมายความว่า แต่ละกลุ่ม แต่ละพรรคการเมืองคงจะมีแนวทางอยู่ แต่การปรึกษาหารือจะทำให้เกิดความเข้าใจกัน แต่ว่าท่านจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือว่าแยกกันทำ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกๆ ฝ่าย เราก็ควรจะมีการปรึกษาหารือ หรือประสานงานกัน
เมื่อถามว่า มีหลายกลุ่มออกมาดันรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ไหมที่จะสามารถรวมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน รศ.โคทม กล่าวว่า เราพยายามที่จะประสานงานกับหลายกลุ่ม เท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งก็จะขยายหลุ่มให้กว้างออกไปอีก ขั้นต่อไปก็จะมีการประชุม อาจจะมีกลุ่มอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาร่วม เราก็จะเชิญให้เขามาร่วมด้วย
รศ. โคทม ยังระบุว่า ขณะนี้ทางภาคีฯ ได้มีการเทียบเชิญคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ไปแล้ว ซึ่งทาง ครช. จะเอารายละเอียดที่ทางภาคีเขียนไปปรึกษากับเครือข่าย เราก็พยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ว่า ถ้ามาประสานงานกัน และยอมรับแนวทางที่เรายกร่างขึ้นมา รวมทั้งแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ก็จะต้องเปิดให้แต่ละส่วนของเครือข่ายไปรวบรวมประเด็นที่เขาอยากจะแก้ไข มาประกอบว่า ประเด็นต่างๆ ที่จะแก้ไขคืออะไร อาจจะต้องเปิดประตูแก้ไข มาตรา 256 ก่อน แล้วแก้ไขตามประเด็นอื่นต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง