ไม่พบผลการค้นหา
'ปูติน' ระงับความร่วมมือในสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ระหว่าง 'รัสเซีย-สหรัฐ' แล้ว หลัง 'ทรัมป์' ขู่ถอนตัว อ้างรัสเซียละเมิดข้อตกลงก่อน แต่องค์กรต่อต้านการครอบครองอาวุธชี้ 2 ชาติต้องทำทุกทางเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์

'วลาดิเมียร์ ปูติน' ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามในคำสั่งระงับความร่วมมือในสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty หรือ INF) ระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ทันที

ด้านเว็บไซต์สปุตนิก สื่อของรัสเซีย รายงานว่าคำสั่งของปูตินเป็นการตอบโต้ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งสั่งระงับความร่วมมือทางฝั่งสหรัฐฯ ไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา

การพิจารณาระงับความร่วมมือในข้อตกลงสนธิสัญญา INF ของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียเป็นฝ่ายละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลง INF ก่อน สืบเนื่องจากการพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธร่อน (cruise missile) รุ่น 9M729 พิสัยยิงระหว่าง 500 - 5,500 กิโลเมตร เมื่อปี 2557 แต่ฝ่ายรัสเซียระบุว่า ขีปนาวุธดังกล่าวเป็นแบบยิงจากเรือและยิงจากอากาศสู่พื้นดิน ไม่ใช่ขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นดินสู่พื้นดิน (land to land) ซึ่งถูกห้ามทดลองและพัฒนาตามเงื่อนไขสัญญา INF

ทว่ารััฐบาลของทรัมป์ยืนยันว่า การละเมิดข้อตกลงของรัสเซียเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และสหรัฐฯ ต้องการระงับความร่วมมือดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา 

ความตึงเครียดด้านอาวุธระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย ทำให้องค์กรระหว่างประเทศด้านการควบคุมอาวุธ Arms Control Organization เกรงว่าสภาวการณ์ดังกล่าวจะทำให้สองประเทศหันมาพัฒนาหรือสะสมอาวุธรอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก เพราะเข้าข่าย 'เสี่ยงภัยคุกคามนิวเคลียร์'

ข่าวกรองสหรัฐฯ มีข้อมูลทรัมป์-รัสเซียมา 2 ปีแล้ว
  • สื่อรัสเซียระบุว่าท่าทีของวลาดิเมียร์ ปูตินในครั้งนี้ เป็นการตอบโต้โดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง

เว็บไซต์ Arms Control ได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อต้านการพัฒนาและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ลงวันที่ 4 มี.ค. 2562 โดยอ้างอิงคำแถลงของ 'วินสตัน ปีเตอร์ส' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของนิวซีแลนด์ ที่มีต่อผู้เข้าร่วมการประชุมเพื่อการระงับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโอ๊คแลนด์ของนิวซีแลนด์เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว โดยระบุว่า ประเทศผู้ครอบครองนิวเคลียร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้มีความก้าวหน้า ทั้งในแง่ของพิสัยและระบบปฏิบัติการอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ผลสูงสุด โดยใช้อาวุธในปริมาณน้อยที่สุด ทั้งยังมีแนวโน้มสูงกว่าปริมาณอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกจะเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต

วินสตัน ปีเตอร์ส ยังได้อ้างอิงคำเตือนของ 'อันตอนิอู กูแตร์รีช' เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า ทั่วโลกกำลังเสี่ยงภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่นับจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เมื่อปี 2488 และนานาประเทศจะต้องผนึกกำลังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น ทั้งยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN ยึดมั่นในข้อตกลงสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2513

อย่างไรก็ตาม อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครอง ไม่ได้เป็นภาคีของสนธิสัญญา NPT ส่วนรัสเซียและสหรัฐฯ เป็นภาคีของสนธิสัญญา NPT แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทั้งสองประเทศก็ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขลดอาวุธนิวเคลียร์ตามข้อตกลงในสนธิสัญญา NPT 

นอกจากนี้ ความขัดแย้งรอบใหม่ในดินแดนแคชเมียร์ระหว่างปากีสถานและอินเดีย ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ รวมถึงประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค ต่างเกรงว่ากรณีพิพาทครั้งนี้จะกลายเป็นข้ออ้างให้กับประเทศคู่กรณีทั้งสองพัฒนาและเพิ่มปริมาณการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต

(ภาพปก: นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบขีปนาวุธซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์นิวเคลียร์ที่เมืองซารอฟของรัสเซีย)

ที่มา: DW/ The Guardian/ Sputnik/ Arms Control

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: