ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และต่างประเทศ โดยได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (https://www.ri.co.jp/en/news_release_cfp/2023/12/news_release_cfp_20231221_21207_eng.pdf)
โดยบริษัทฯ ให้เหตุผลว่า “เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวด้วยการขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรม การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลมีมาตรการเชิงรุกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางถึงระยะยาว ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ประกอบกับ แม้ว่าการขาดดุลทางการคลังจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ R&I เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะยังคงสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และยังมีพื้นที่ทางการคลังคงเหลือเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลัง ภาคการเงินต่างประเทศมีความแข็งแกร่งโดยดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2566 คาดว่า จะกลับมาเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง”
“รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหา ดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และเป็นไปภายใต้กฎระเบียบ รวมทั้งได้เตรียมมาตการรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีพัฒนาส่งเสริมปัจจัยในประเทศให้เหมาะสมรองรับการลงทุน และเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น พบปะพูดคุย เชิญชวนนักลงทุนรายสำคัญของโลกเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการทำงานอย่างเป็นรูปแบบ มีขั้นตอนนี้ ทำให้ยังคงความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการ จัดการบริหารปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม” นายชัย กล่าว