พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีคำสั่ง คสช. ไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งอาจส่งผลให้การแต่งตั้ง ส.ว.เป็นโมฆะ ว่า เรื่องดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแล้ว ส่วนรายชื่อสำรอง ส.ว.อีก 50 คน ได้ส่งรายชื่อไปที่ประธานวุฒิสภาแล้ว ก็จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความชัดเจนในยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. ตาม ม.44 ที่ไม่จำเป็นว่า คำสั่ง ม.44 ตนก็ไม่ได้อยากจะมีเอาไว้ เรื่องใดที่ไม่จำเป็นก็ดำเนินการยกเลิก กำลังเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนที่กังวลว่าหากไม่ยกเลิก อำนาจคสช.บางส่วนยังคงอยู่นั้น ตรงนี้ไม่ต้องกังวล ทุกอย่างจะแล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลใหม่จะมีผลต่อเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วเท่านั้น ช่วงนี้รัฐบาลนี้ยังมีอำนาจในการทำหน้าที่อยู่
จี้ ปชช. เอาผิด 'ผ.อ.ราชกิจจาฯ' กรณีไม่ประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรอง
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศกำลังรับไม่ได้ กรณียังไม่สามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการถกเถียงแย่งชิงตำแหน่งขึ้น ทั้งที่ในตอนหาเสียงนักการเมืองยืนยันว่าจะทำประโยชน์ให้กับประชาชน แก้ไขปัญหาปากท้อง แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว การแต่งตั้งรัฐมนตรีกลับเป็นไปอย่างล่าช้า มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ ที่มีความจำเป็นต้องมีผู้บริหารแผ่นดินเข้ามาทำหน้าที่อย่างเร่งด่วน ส.ส. และนักการเมืองเหล่านี้จึงกำลังมองข้ามประโยชน์ของประชาชน
ส่วนการสรรหา ส.ว.ที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมการสรรหาฯ ที่ยังไม่เปิดเผยออกมา ซึ่งอาจมีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อเนื่อง
โดยในเร็วๆ นี้จะนำความไปร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับผู้อำนวยการสำนักราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากไม่นำประกาศของ คสช.ฉบับที่ 1 และ 2 มาประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพราะการที่มีคำสั่งหรือเอกสารที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินเช่นนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักราชกิจจานุเบกษา ที่ต้องเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้โดยทั่วกัน ไม่ใช่ปิดบังซ่อนเร้นอำพราง ซึ่งผู้อํานวยการสํานักราชกิจจานุเบกษาต้องไปให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.
นายศรีสุวรรณ ย้ำว่า เรื่องนี้ยอมความไม่ได้ เพราะมีผลต่อการประกาศบัญชีรายชื่อ ส.ว. สำรองอีก 1 บัญชี ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ประกาศ ขณะที่อำนาจของ คสช.ใกล้จะหมดลงแล้ว หลังจากที่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ดังนั้นหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอาจจะต้องรับผิด ฐานละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่
"ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการประกาศบัญชีสำรอง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกันเองในระดับจังหวัด และบัญชี ส.ว.สำรองที่มาจากกระบวนการสรรหา ดังนั้นเมื่อจะประกาศต้องรายงานในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นหนังสือราชการไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้ประชาชนรับรู้ได้ และความพยายามที่จะปิดบังซ่อนเร้น คงไม่มีเหตุผลประการอื่น เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาอาจมีผลประโยชน์ได้เสีย เนื่องจากหลายคนมีตำแหน่งเป็น ส.ว.ด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิดไม่มิด" นายศรีสุวรรณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง