จากรายงานเปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการรับรู้การทุจริตในภาครัฐประจำปี 2565 อยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 อันดับทั่วโลก ด้วยคะแนน 36 เต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นมา 1 คะแนนจากปีที่แล้ว โดยชาติที่อยู่ในอันดับที่ 101 ด้วยกันกับไทยประกอบไปด้วย แอลเบเนีย เอกวาดอร์ คาซัคสถาน ปานามา เปรู เซอร์เบีย ศรีลังกา และตุรกี
ดัชนีรับรู้การทุจริตขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับด้วยการคำนวณคะแนนของแต่ละประเทศ ผ่านแหล่งข้อมูลอย่างน้อย 3 แหล่ง ซึ่งดึงมาจากแบบสำรวจและการประเมินการคอร์รัปชันที่แตกต่างกัน 13 รายการ ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมโดยสถาบันที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารโลกและสภาเศรษฐกิจโลก
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า การจัดอันดับนั้นไม่สำคัญเท่ากับคะแนนที่แต่ละรัฐได้ไป ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดระดับการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ คะแนนที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ไม่ได้บ่งชี้ว่าประเทศนั้นๆ มีการพัฒนาความโปร่งใสที่เด่นชัดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ทางองค์กรได้วัดข้อมูลดัชนีรับรู้การทุจริตของภาครัฐ ผ่านอัตราของการติดสินบน การผันเงินกองทุนสาธารณะ เจ้าหน้าที่ใช้สำนักงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ต้องเผชิญกับผลที่ตามมา ความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมการทุจริตในภาครัฐ ข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไปในภาครัฐซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการทุจริต การแต่งตั้งที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในราชการพลเรือน กฎหมายที่รับรองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ที่รายงานกรณีการติดสินบนและการทุจริต การยึดครองของรัฐโดยผลประโยชน์ส่วนได้เสียในวงแคบ และการเข้าถึงข้อมูลด้านกิจการสาธารณะและกิจกรรมของรัฐ
จากการสำรวจการรับรู้การทุจริตในภาครัฐ ซึ่งจะมีการให้คะแนนตั้งแต่ 0 คะแนน (ทุจริตมาก) ไปจนถึง 100 คะแนน (สะอาดมาก) องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเปิดเผยว่า ในภาพรวมเฉลี่ยทั่วโลกตลอดทศวรรษที่ผ่านมานั้นยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดย 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมด ยังคงมีคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ในขณะที่คะแนนการรับรู้การทุจริตทั่วโลกเฉลี่ยมีอยู่ที่ 43 คะแนน
อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนที่เห็นคะแนนของประเทศตัวเองมีการพัฒนาขึ้น แต่กลับยังรู้สึกว่าประเทศของตัวเองยังคงมีอัตราการทุจริตอยู่ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า การทุจริตดังกล่าวอาจไม่ได้อยู่ในกรอบเวลาของการจัดดัชนีรับรู้การทุจริตในครั้งนี้ ซึ่งอาจใช้เวลาหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นจึงจะสะท้อนให้เห็นในแหล่งข้อมูล
นอกจากนี้ การพัฒนาเชิงบวกบางอย่างในการควบคุมการทุจริตในภาครัฐอาจถูกนำมาคำนวณในดัชนีด้วย ซึ่งจะทำให้คดีเชิงลบเหล่านี้เกิดความสมดุลกัน ทั้งนี้ การคอร์รัปชันบางประเภท เช่น การฟอกเงินหรือการติดสินบนจากต่างประเทศ ไม่ได้ถูกนำมาวัดในดัชนีรับรู้การทุจริตนี้
ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ได้อันดับ 1 ของดัชนีรับรู้การทุจริตประจำปีนี้ คื่อ เดนมาร์ก ด้วยคะแนน 90 คะแนน ในขณะที่ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับที่ 2 ร่วมกันด้วยคะแนน 87 คะแนนเท่ากัน ตามมาด้วยนอร์เวย์ในที่ 4 ที่ 84 คะแนน และสิงคโปร์กับสวีเดนในอันดับที่ 5 ที่ 83 คะแนน ขณะที่ โซมาเลีย เป็นประเทศทีได้คะแนนการรับรู้การทุจริตต่ำสุดในโลกที่ 12 คะแนน ในอันดับ 180 ของโลก และซีเรียและซูดานใต้ที่ 13 คะแนนในอันดับ 178
ที่มา:
https://www.transparency.org/en/cpi/2022/index/tha
https://www.transparency.org/en/news/how-cpi-scores-are-calculated