ไม่พบผลการค้นหา
หมั่นเรียนรู้ภาษาเขา พูดจาดีน้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก และสารพัดเทคนิคของราชทูตที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสจดจำอยุธยาได้จนถึงทุกวันนี้

เมื่อ 333 ปีก่อน คณะทูตที่นำโดย "ออกพระวิสูตรสุนทร" หรือภายหลังอวยยศเป็น “โกษาปาน” (จินตนาการไม่ออกให้นึกถึงเก่ง ชาติชาย งามสรรพ์ พี่แกเล่นบทนี้ในละครบุพเพสันนิวาส) ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส เอาจริงๆ ราชทูตไทยชุดนี้ไม่ใช่ชุดแรก นับเป็นชุดที่ 3 แต่เป็นการทูตที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ฝรั่งเศสต้อนรับอย่างเอิกเกริก ถึงกับถนนในเมืองแบรสต์ (Brest) ที่เชื่อกันว่าคณะทูตสยามเทียบท่าเป็นที่แรก ถูกตั้งชื่อว่า “ถนนสยาม” (Rue de Siam) เป็นหน้าเป็นตาของชาวเราอยู่เหมือนกัน

ประวัติศาสตร์กำลังจะได้รับการเน้นย้ำให้ชัดเจนขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดทำรูปปั้น “Kosa Pan : Le buste โกษาปาน อนุสรณ์สถานแห่งมิตรไมตรีที่ถนนสยาม” เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ถนนสยาม สาธารณรัฐฝรั่งเศส คาดว่าจะมีพิธีเปิดในปีหน้า และน่าจะกลายเป็นจุดเช็คอินใหม่สำหรับคนไทยได้ไปเยี่ยมเยียนเมืองแบรสต์

5.jpg

โดยปกติเราชาวไทยมักรับรู้ถึงความเฉียบแหลมเชิงทูตของโกษาปานที่พระเจ้าหลุยส์โปรดปราน หรือถ้าใครอ่านพระราชพงศาวดารตอนนี้ ก็อาจเจอกับมุมเหนือธรรมชาตินิดๆ เรื่องทหารไทยโชว์ "มหาอุด" ทำทหารฝรั่งเศสยิงปืนไม่ออกโชว์หน้าพระที่นั่ง อันนั้นดูเกินจริงตามสไตล์การเขียนพงศาวดาร ช่างมันเถอะ พูดกันมาเยอะแล้ว เรามาดูเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับการเดินทางไปฝรั่งเศสของ "โกษาปาน" ที่จะทำให้รู้ว่า "การทูตระดับตำนาน" ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องอาศัยทั้งความมีมานะ ไหวพริบ อดทน และเผชิญหน้ากับความกลัว ซึ่งเรื่องเล่าสั้นๆ ข้างล่างนี้น่าจะช่วยเพิ่มอรรถรสมากขึ้น หากท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน และเห็นรูปปั้นบุรุษสวมลอมพอกตั้งตะหง่านอยู่ที่ถนนสยาม ที่ซึ่งพวกเขาเคยมาเยี่ยมเยือนเมื่อ 333 ปีก่อน

เรียนภาษาฝรั่งเศสบนเรือ

คณะทูตสยามของเราไม่ได้ล่องเรือไปโดดๆ แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชบัญชาให้ติดตามมากับเรือของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ (François–Timoléon de Choisy) ซึ่งคณะทูตทุกท่าน คือ โกษาปาน ราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต กระตือรือร้นที่จะเรียนภาษาฝรั่งเศสอย่างมาก โดยบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ เขียนไว้ในจดหมายเหตุรายวันฯ ว่าได้ตกลงกับทูตสยาม จะสอนภาษาฝรั่งเศสให้วันละ 6 คำ แลกกับการที่ทูตสยามจะต้องเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ด้านตะวันออกให้หลวงพ่อฟัง

ทูตสุดสตรอง

การอยู่รวมกันหลายๆ คนบนเรือล่องเคว้งคว้างคืบก็ทะเลศอกก็ทะเล เรื่องสุขภาพสำคัญที่สุด จากจดหมายเหตุรายวันฯ ของเดอ ชัวซีย์ บอกว่านอกจากตัวคนบันทึกเองจะป่วย ปวดท้อง อาเจียน และถึงกับต้องทิ้งศพกะลาสีหนุ่มที่ป่วยตายลงทะเลแล้ว อุปทูตสยาม คือ ออกหลวงกัลยาราชไมตรี ก็ป่วยเหมือนกัน แต่ "เขารักษาตัวตามแบบสยามของเขา เมื่อเป็นไข้ขึ้นมา ก็กินแต่ข้าวกับปลาแห้งเท่านั้น" และในที่สุดก็อาการดีขึ้น

โรคบิด เวียนหัว เป็นไข้แดด เมาเรือ ถือเป็นทุกข์สาหัส แต่การเดินทางกลางมหาสมุทรเมื่อสามร้อยปีก่อน ยังมีเรื่องให้ลุ้นตลอดเวลา เพราะคลื่นลม พายุฝน หรือแม้แต่ปลวกกินเรือ ก็อาจนำมาซึ่งจุดจบใต้ท้องทะเล

ในเอกสาร "ต้นทางฝรั่งเศส" ที่สันนิษฐานว่าทูตท่านใดท่านหนึ่งเป็นคนเขียนขึ้น บรรยายว่าออกเรือมาได้ 14 วัน เรือก็เจอมรสุม ชาวเรือทุกตำแหน่งไม่มีใครอยู่ว่าง สับสนวุ่นวายไปหมด และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ชาวเรือ (อย่างน้อยก็คนแต่งนิราศต้นทางฝรั่งเศส) ก็หันไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ยกมือประนมไหว้               ส่วนปากไซร้ราธนา

บนบวงทุกเทวา                 ขอจงข้าพ้นความตาย

ข้าไหว้พระอาทิตย์              อันศักดิ์นิทธิ์รุ่งเรืองฉาย

ส่องโลกทังหลาย                ขอท่านท้าวช่วยปราณี

ข้าไหว้พระจันทรา           อันโสภาทรงรัศมี

ส่องโลกโลกีย์                   ช่วยปราณีเอ็นดูรา

พายุกระหน่ำอยู่ 7 วันในที่สุดก็สร่างซาไป ทำให้เรือราชทูตสยามได้ไปต่อ จนถึงเมืองท่าบริเวณแหลมกู๊ดโฮป ก่อนจะแวะอีกหลายที่ รวมเวลาเดินทาง 5 เดือนกว่า ระยะทาง 3,400 โยชน์ ก็ถึงเมืองแบรสต์ (Brest) ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทูตที่ได้รับการกล่าวขานถึงมาอย่างยาวนาน

3.jpg

ภาพคณะทูตสยาม ผลงาน Jacques Vigouroux Duplessis

เอนเตอร์เทนทุกระดับประทับใจ

เมื่อถึงเมืองแบรสต์ คณะทูตสยามยังไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่แวร์ซายส์ แต่ก็ได้รับการรับรองพักผ่อนพบขุนนางชนชั้นนำของฝรั่งเศสในหลายๆ เมือง “มองซิเออร์ เดอ วีเซ” ดูจะปลื้มราชทูตสยามไม่น้อย บันทึกถึงปธิภาณไหวพริบในการเจรจาโต้ตอบกับบุคคลมากหน้าหลายตาอย่าง “มธุรสวาจา” เอาไว้หลายตอน

“มองซิเออร์ เดอ วีเซ” ใส่ความเห็นส่วนตัวไว้ว่า ตอนคณะทูตสยามเดินทางมากับเรือฝรั่งเศสก็คงลำบากอยู่บ้าง สนทนาก็ไม่สะดวกเพราะคนละภาษา อาหารก็คงไม่ถูกปาก ความเชื่อก็ต่างกัน แต่กระนั้นตอนที่โกษาปานเจอคณะเจ้าเมืองแบรสต์ ก็ยังออกปากชมเชยชาวฝรั่งเศส โดยบอกว่าตอนอยู่ในเรือได้รับความผาสุกมาตลอดทาง สมเกียรติยศของราชทูตทุกประการ ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า “เมื่อตนถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว ไฉนจะไม่รับด้วยความไมตรีจิตและด้วยเกียรติยศอันสูงเล่า กิจปฏิบัติอันประณีตซึ่งเราได้รับในเรือนี้ก็เป็นเครื่องส่อถึงกิจปฏิบัติของชนชาวฝรั่งเศสเมื่อเราจะมาถึงเมืองเป็นแน่”

นอกจากนี้ ยังบอกว่าโกษาปานเวลามีใครมาเยี่ยมเยียน ถ้าผู้นั้นมาในเวลารับประทานอาหารไม่ว่าจะเที่ยงหรือเย็น ต้องเชื้อเชิญให้ผู้ที่มาหาอยู่รับประทานอาหารด้วยกัน และถ้าผู้ที่มาเป็นผู้ใหญ่มาก โกษาปานก็ยกข้าวยกของให้รับประทาน ยกเก้าอี้ให้นั่งเองก็มี ด้วยกิริยามารยาทและลิ้นทูตดังนี้ แม้แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังต้องมีพระราชสาสน์กลับไปถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่า “ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำ ๆ ก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ”


4.jpg

ภาพคณะทูตสยามเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของ Nicolas Larmessin

ร้อยปีผ่านคนฝรั่งเศสยังจดจำได้

โกษาปานไม่ได้มาฝรั่งเศสมือเปล่า แต่นำเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้ากรุงสยาม รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยอย่างมากมาย “เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์” ราชทูตฝรั่งเศสที่ไปสยามมาก่อนหน้า บันทึกรายการเครื่องราชบรรณาการที่โกษาปานนำมาถวายยังพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีตั้งแต่ปืนใหญ่ 6 ฟุต ประดับลายเงินที่ผลิตในสยาม, เรือทองคำแบบจีน, ถ้วยทองคำดุนลายจากญี่ปุ่น, พรมเปอร์เซียนพื้นสีทอง, เครื่องกระเบื้องลายคราวราว 1,500 ชิ้นจากทั่วชมพูทวีป บางชิ้นมีอายุ 250 ปี (ถ้ายังอยู่ตอนนี้ก็อายุเกือบ 600 ปี) ล้วนแต่เนื้อละเอียด ฯลฯ

ความอลังการของข้าวของงามๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่มากับคณะของโกษาปาน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “เมืองท่านานาชาติ” ของกรุงศรีอยุธยาให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวฝรั่งเศส ความสำเร็จนี้คงต้องบอกว่าตราตรึงใจฝรั่งจริงๆ เพราะแม้ผ่านไป 192 ปี ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่โปรดเกล้าฯ ให้ไทยส่งผลผลิตและงานศิลปกรรมไปแสดงที่ชังป์ เดอ มารส์ ในปี พ.ศ.2421 “เอเตียน กาลลัวซ์” ชาวฝรั่งเศสที่ได้เดินชมบูธสยาม ก็ยังอดนึกถึงความยิ่งใหญ่อลังการของเครื่องราชบรรณาการที่โกษาปานนำมาถวายพระเจ้าหลุยส์ไม่ได้ จนต้องเขียนพรรณาไว้ในหนังสือ Le Royaume de Siam au Champ de Mars en 1878 et à la Cour de Versailles en 1686, Deux Rois de Siam ยกย่องทั้งรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพระเกียรติยศของกษัตริย์อยุธยาที่ถูกจดจำยาวนานเช่นนี้ มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า มีความสามารถของ “โกษาปาน” เป็นส่วนผลักดันส่วนหนึ่ง

2.jpg

ภาพ “โกษาปาน” พิมพ์ในฝรั่งเศสปี ค.ศ.1686

***********************************

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

มองซิเออร์ เดอ วีเซ, จดหมายเหตุโกษาปานไปฝรั่งเศส, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2560.

ปรีดี พิศภูมิวิถี, ต้นทางฝรั่งเศส, กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร, 2544.

บาทหลวง เดอ ชัวซีย์, จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ.1685 และ 1686 ฉบับสมบูรณ์, (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550.

เอเตียน กาลลัวซ์, ราชอาณาจักรสยาม ในงานแสดงศิลปหัตถกรรม ณ ชังป์ เดอ มารส์ ใน พ.ศ. 2421 (ค.ศ.1878) และ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ใน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) กับพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2514.

มานพ ถนอมศรี, เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน), กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, 2533.

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog