ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นอีกสิ่งที่ตรา ทบ. ในยุค ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. สำหรับกรณีสนามมวยลุมพินี ที่ถูกมองว่าเป็นอีกจุดแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังมีการจัดแข่งขัน "ศึกลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร" เมื่อ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา

แม้จะมี ‘ข้อสั่งการนายกฯ’ ที่สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 ในการขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรม โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

จากนั้นได้มี ‘หนังสือขอความร่วมมือ’ ของ สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ที่ทำหนังสือถึง นายสนามมวยเวทีลุมพินี นั่นคือ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี ที่อิงข้อสั่งการนายกฯ ในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการสนามมวยและนายสนามมวยที่อยู่ในการดูแล 

กรณีนี้ก็ยากที่ พล.อ.อภิรัชต์ จะปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะเป็น ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี ด้วย 

ดังนั้นเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ จึงได้สั่งการให้ พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ ขึ้นมาสอบสวนขึ้นมา พร้อมทั้งให้ พล.ต.ราชิต และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดแข่งมวย เข้ามา ‘ช่วยราชการที่ บก.ทบ.’ เพื่อเปิดทางให้มีการหาข้อเท็จจริงขึ้น

ผ่านมา 2 เดือน สื่อได้มีโอกาสถามความคืบหน้าจาก พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบกรณีสนามมวยลุมพินี เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบ ‘ความบกพร่อง’ ในการควบคุมโรคจริง ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้สั่งปลดคณะกรรมการสนามมวยทั้งหมด ซึ่งรวมถึง พล.ต.ราชิต ในฐานะนายสนามมวย ที่ได้รับโทษด้วย

ราชิต อรุณรังษี โควิด สนามมวย ลุมพินี -6.jpgสนามมวย ลุมพินี โควิด โคโรนา -2.jpg

แม้ผลการสอบสวนได้สิ้นสุดแล้ว โดยให้ พล.ต.ราชิต และคณะกรรมการสนามมวย ถูกปลดจากคณะกรรมการสนามมวยทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ราชิต เป็นเพื่อน ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย จึงต้องจับตาการโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ช่วงส.ค.-ก.ย.63 ชื่อของ พล.ต.ราชิต จะได้ขึ้น ‘พล.ท.’ หรือไม่ และจะไปอยู่ในตำแหน่งใด โดย พล.ต.ราชิต เหลืออายุราชการอีก 2 ปี เกษียณฯ ปี 2565 ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ เกษียณฯ ก.ย. 2563 

ซึ่งในกรณีการโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลจะต้องทำผ่าน คณะกรรมการเพื่อพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ที่มี 7 อรหันต์ ได้แก่ รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ร่วมกันพิจารณา ก่อนส่งให้นายกฯเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งในกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม ที่อยู่ใน 7 อรหันต์พิจารณาด้วย

ทว่าสำหรับชีวิตรับราชการทหารอง พล.ต.ราชิต ถือว่ามีบาดแผลกลับออกไป รวมทั้ง พล.ต.ราชิต เองก็ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบทเรียนให้คนใน ทบ. เป็นอย่างดี ถึงความบกพร่องที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่ากรณีสนามมวยลุมพินีก็ทำให้สังคมให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้นเพราะเพียงจุดเล็กๆก็สามารถทำให้การแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง ดังนั้นการที่ ศบค. กำลังพิจารณาผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการ เฟส 4 ที่มีสนามมวย ผับ บาร์ จึงทำให้ต้องมีการชั่งน้ำหนักอย่างมาก

ทว่ามหากาพย์สนามวยลุมพินียังไม่จบเท่านี้ เพราะยังมีเรื่องเก่าที่ยังไม่เคลียร์ หลัง ทบ. ลงนามเอ็มโอยูกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังในการจัดการ ‘สวัสดิการเชิงธุรกิจของ ทบ.’ ที่ขั้วตรงข้ามกองทัพยังคงตามติดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ‘คณะก้าวหน้า’ นำโดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้เปิดเผยรายละเอียด ทวงถามความคืบหน้าในการปฏิรูป ทบ. จาก พล.อ.อภิรัชต์ เมื่อ 22พ.ค.63 ในวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 2557

ธนาธร ระบุว่า เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ รายนามกรรมการบริษัทก็จะพบว่า พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงเป็นประธานอำนวยการสนาม ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีเอกชนเข้ามาบริหาร รวมถึงกรรมการอื่นๆ ก็เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมด และบริษัทเกี่ยวข้องเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอด การประชาสัมพันธ์ เป็นของ บริษัท เวิร์ด สปอร์ท กรุ๊ป จำกัด ซึ่งรายงานผู้สอบบัญชีปีบัญชี 2559 หน้าแรก ระบุไว้ว่าธุรกิจหลักคือบริหารสิทธิประโยชน์ในสนามมวยลุมพินี ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเงื่อนไขในการให้สัญญาเป็นอย่างไร ไม่เคยมีการเปิดเผยสาธารณะ ประชาชนไม่เคยรู้

ธนาธร รัฐประหาร ก้าวหน้า อภิรัชต์ กองทัพ -4460-9CCA-B9F429F6EF66.jpeg

นายธนาธร กล่าวอีกว่า พบว่า มิ.ย.2558 บริษัทนี้เข้าทำสัญญากับผู้ให้สิทธิรายหนึ่ง เพื่อรับสิทธิการดำเนินงานเกี่ยวกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การบริหารสิทธิประโยชน์ในลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและเทปการจัดการแข่งขัน โดยใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ให้สิทธิ สัญญามีอายุ 5 ปี นับจากเดือน ก.ค. 2558 โดยมีผลตอบแทน 5 ล้านบาท ภายในปี 2561 ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 2 ล้านบาท และแบ่งกำไรให้ผู้ให้สิทธิร้อยละ 10 ซึ่งคู่สัญญา อนุมานได้ว่าองค์กรของกองทัพบกองค์กรหนึ่ง ปัญหาคือ เวิร์ด สปอร์ท กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้ง พ.ค. 2558 พอ มิ.ย. 2558 เข้าทำสัญญาบริหารสิทธิสนามมวย นั่นคือ 1 เดือนหลังตั้ง และจะหมดสัญญา ก.ค 2563 นั่นคือ อีก 2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็จะเกิดการประมูลสิทธิ์ใหม่ 

ล่าสุดเว็ปไซต์ smmsport เปิดเผยว่าว่า น.อ.ยอดวันเผด็จ สุวรรณวิจิตร กล่าวถึงความชัดเจนสนามมวยลุมพินี และ สนามมวยเยาวชนกองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) ว่า จะมีบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารเวทีมวยในอนาคต โดยกำลังจะเข้ามาดำเนินการต่อไป หลังจากที่ นายธนาธร ได้กล่าวโจมตีกองทัพ ในเรื่องการบริหารงานด้านต่างๆ ในเรื่องผลประโยชน์ที่เข้ามาว่าเงินไปอยู่ตรงไหน ทำให้กรมธนารักษ์ต้องเข้ามาควบคุมดูแล จัดการในเรื่องวิธีของการบริหารทุกๆ อย่างในกองทัพทุกกองทัพ เช่น สนามกอล์ฟ ปั้มน้ำมัน โรงแรม และทุกๆอย่าง โดยจะต้องจ้างบริษัทของเอกชนเข้ามาบริหาร และจะได้จำนวนเงินที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ โดยสำหรับ ‘สนามมวยลุมพินี’ ก็เช่นกัน ได้มีบริษัทชีพี.เข้ามายื่นชองประมูลได้เป็นผู้บริหารเวทีมวยลุมพินีแต่ผู้เดียว 

ภายหลังการ ตรวจสอบภายใน ทบ. เรื่องสนามมวยลุมพินีเสร็จสิ้นแล้ว เรื่องที่ฝ่ายการเมืองตั้งคำถามขึ้น ทบ. จะต้องชี้แจง และให้เป็นไปตามนโยบาย พล.อ.อภิรัชต์ ในการจัดการสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของ ทบ. ที่มีกรมธนารักษ์มาดูแลเพื่อจัดเก็บรายได้ 

โดยรายได้หลังจ่ายกับกรมธนารักษ์แล้ว ก็จะนำเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ ทบ. ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในกองทัพ พ.ศ.2554 เพื่อนำมาดูแลกำลังพล เช่น ทุนการศึกษาบุตร ดูแลสวัสดิการให้กับกำลังพลชั้นผู้น้อย

ทั้งหมดนี้ประโยชน์ก็จะตกกับกำลังพลของ ทบ. โยเฉพาะกำลังพลชั้นผู้น้อยที่เปรียบเป็น ‘ฟันเฟือง’ ขับเคลื่อนกองทัพ และเกิดความโปร่งใส ถือเป็นหลุดหมายสำคัญของ ทบ. ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ ในการวางพื้นฐาน

เชื่อได้ว่าคณะก้าวหน้าและขั้วตรงข้ามกองทัพ ยังคงติดตามโครงการและคำสัญญาที่ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ให้ไว้ ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็น ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ป่าหี่’ ยื้อเวลาเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog