ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.ร่างกฎหมายประชามติ ประชุมปรับแก้ มาตรา 10-11 ด้าน 'สุรชัย' ยอมรับเป็นข้อที่ กมธ.กังวล แต่ไม่ทำให้ร่างตกทั้งฉบับ

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฎหมายหลังจากที่กฤษฎีกา ปรับแก้มาตราอื่นให้สอดรับกับมาตรา9 และไม่ให้เกิดปัญหา ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ และให้กระทบกับมาตราที่เหลือให้น้อยที่สุด ว่า ได้พิจารณา3หลักดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างเห็นตรงกับว่าให้แก้มาตรา10 และ11 


ถ่ายโอนอำนาจไม่ชัด

ซึ่งร่างที่จะเสนอต่อที่ประชุมกรรมาธิการ(กมธ.)ในวันนี้จะเป็นร่างที่แก้ไขเฉพาะมาตรา10และ11 ที่บัญญัติถึงกระบวนการวิธีการทำประชามติ ที่ระบุถึงการริเริ่มขอทำประชามติ โดยยอมรับว่าเมื่อศึกษามาตรา 9 แล้วพบว่ายังมีบางประเด็นที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอ ซึ่งจะต้องถกกันในที่ประชุมวันนี้ คือเรื่องการกำหนดจำนวนเข้าชื่อการเสนอทำประชามติ

โดยในมาตรา 9 ไม่ได้กำหนดไว้ ระบุไว้เพียงว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมาการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงเป็นข้อที่กมธ.ห่วงกังวลมาก เหมือนเป็นการถ่ายโอนไปให้ กกต.กำหนด ทั้งนี้ไม่สามารถที่จะไปปรับแก้มาตรา 9 ได้แล้ว ซึ่งอาจจะให้ข้อสังเกตเป็นแนวทางกับกกต.ออกกฎหมายลูกรองรับ รวมถึงหารือกันว่าจะต้องกำหนดกรอบการจัดทำกฎหมายลูก หรือระเบียบของ กกต.ด้วยหรือไม่


เชื่อไม่ทำให้ร่างทั้งฉบับตก

สุรชัย ให้ความเห็นส่วนตัวว่าควรที่จะกำหนดจำนวนคนเสนอชื่อให้ชัดเจน โดยอาจจะยึดหลักจำนวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จำนวน10,000ชื่อ หรือหลักเกณฑ์การเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50,000 รายชื่อ ทั้งนี้ยังเชื่อมั่นว่าปมปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้ร่างทั้งฉบับตกไป เพราะได้เตรียมทางออกไว้แล้ว คือการเพิ่มข้อสังเกตท้ายรายงานให้กกต.และเชื่อมั่นว่าร่างกฎหมายจะผ่านวาระ3ได้ แต่ก็ต้องดูเสียงข้างมากด้วย พร้อมกล่าวยืนยันจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 2 วันคือวันที่7-8เมษายนนี้ ซึ่งได้รับปากกับประธานรัฐสภาไว้แล้ว 

ทั้งนี้ สุรชัย ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการเร่งพิจารณากฎหมาย แต่เกิดขึ้นเนื่องจากกมธ.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้จึงไม่มีการลงรายละเอียดไว้