ไม่พบผลการค้นหา
บรรดาชาติผู้แทนในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ตกลงที่จะเปิดตัวกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากพายุและความแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการรับรองในนาทีสุดท้ายหลังจากการเจรจาหลายวัน

สุลต่าน อัล-จาเบอร์ ประธาน COP28 สร้างความประหลาดใจจากการประชุม COP28 โดยนำการตัดสินใจการตั้งกองทุนขึ้นสู่ที่ประชุม COP28 ในวันแรก โดยสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้ประกาศบริจาคเงินรวมประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) ทันที เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"เรากำลังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการล่มสลายของสภาพอากาศตามเวลาจริง" อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ข่าวที่ "ค่อนข้างแน่นอน" ในปี 2567 ก็คือ มันจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และน่าจะ "ทำให้ผู้นำโลกต้องสั่นสะท้าน"

3 ทศวรรษหลังจากที่แนวคิดการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาติยากจนจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศถูกเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรก ข้อตกลงเงินสดเพื่อชดเชยการสูญเสียและความเสียหายได้รับการรับรองแล้วในการประชุม COP28 แม้ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว BBC ได้รายงานเอกสารหลุดว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังหารือเกี่ยวกับข้อตกลงเชื้อเพลิงฟอสซิลกับ 15 ประเทศ

การสูญเสียและความเสียหาย หมายถึงผลกระทบที่หลายประเทศต้องทนทุกข์ทรมาน จากเหตุการณ์ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีการจัดสรรเงินทุนเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อช่วยควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังไม่มีเงินช่วยเหลือในการทำลายล้างที่เกิดจากพายุและความแห้งแล้ง

แนวคิดในการระดมเงินสดสำหรับการชดเชยความสูญเสียเหล่านี้ เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ดี เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ประเทศที่ร่ำรวยกว่า ได้ต่อสู้และตอกย้ำแนวคิดเรื่องกองทุนดังกล่าว โดยชาติร่ำรวยต่างระแวดระวังเรื่องการต้องจ่าย "ค่าชดเชย" สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอดีต

เมื่อปีที่แล้วในการประชุม COP27 ที่อียิปต์ ความคิดด้านศีลธรรมในการชดเชยความเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อชาติยากจนได้รับชัยชนะ และประเทศต่างๆ ตกลงที่จะจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยประเทศต่างๆ ถกเถียงกันเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ว่า กองทุนดังกล่าวควรตั้งอยู่ที่ไหน และใครควรเป็นผู้จ่ายเงินเพื่อการชดเชย โดยมีการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนการประชุมในครั้งนี้ที่ดูไบ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้คำมั่นสัญญาที่จะมอบเงินให้แก่กองทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) เช่นเดียวกับเยอรมนี ในขณะที่สหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาจะจ่ายเงิน 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 598 ล้านบาท) หากสามารถหาข้อตกลงในรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ พร้อมกันนี้ สหราชอาณาจักรให้สัญญาที่จะมอบเงิน 60 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,670 ล้านบาท) แก่กองทุนนี้


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/science-environment-67581277?fbclid=IwAR1IpaRuLsue0AQZmVfWFdS__tHRW0h7w-N67_oExQKO1rsEZwNZa0ZMS0g