ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติร่างยุทธศาสตร์อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนา 4 มิติ ครอบคลุมกรอบวงเงิน 37,000 ล้านบาท หวังดันงบลงทุนด้านนวัตกรรมขึ้นเป็นร้อยละ 1.5 ของจีดีพี

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบร่างนโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีเนื้อหากำหนดยุทธศาสตร์เพื่อนำประเทศไทยสู่เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม 

โดยมี 4 ด้าน กรอบวงเงิน 37,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้เสนอมา โดยมีหลักการต้องกให้เงินที่ลงไปสู่การลงทุนด้านนวัตกรรมของประเทศไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของจีดีพีประเทศไทย โดยที่ภาครัฐจะเข้าไปลงทุนร้อยละ 25 

ครม. ได้อนุมัติหลักการ (ร่าง) นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2565 และให้ส่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาในรายละเอียด ซึ่งร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาใน 4 มิติ ได้แก่

  • ความสามารถการแข่งขัน
  • การลดความเหลื่อมล้ำ 
  • การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
  • การสร้างคนและองค์ความรู้

โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่าน 4 แพลตฟอร์ม และ 16 โปรแกรม ประกอบด้วย

แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 

1) สร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ

2) ผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)  

3) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต

4) ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All) 

5) ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า และการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ 

6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ 

แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม

7) โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร

8) สังคมสูงวัย

9) สังคมคุณภาพและความมั่นคง

แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

10) ยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ

11) พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม และเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม

12) โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพและบ��ิการ

แพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

13) นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม

14) ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

15) เมืองน่าอยู่ (Smart/Livable City) 

16) การปฏิรูประบบการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนัวตกรรม (อววน.) ซึ่งเป็นประเด็นคาบเกี่ยว (Coss Cutting) ของทั้ง 4 แพลตฟอร์ม  

สร้างโครงการ Flagship ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 37,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ครม. ได้มีมติให้กระทรวงนำส่งแผนดังกล่าวให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา และหาก สศช. เห็นว่าแผนครอบคลุมครบถ้วน ก็สามารถนำมาใช้ได้เลย

กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ ครม. อนุมัตินั้น ประกอบด้วยโครงการ Flagship ร้อยละ 30 และโครงการปกติอีกร้อยละ 70 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา 4 แพลตฟอร์ม และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ประกอบด้วยการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 11,100 ล้านบาท การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 5,550 ล้านบาท การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 9,250 ล้านบาท การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 7,400 ล้านบาท และ การปฏิรูป อววน. (Reinventing Universities & Research Institutes) 3,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวยังไม่รวมงบประมาณในการผลิตนักศึกษา งบประมาณบุคลากร งบประมาณที่หน่วยงานบูรณาการกับเจ้าภาพนอกกระทรวง ซึ่งจะเป็นงบประมาณที่จัดสรรตรงไปที่หน่วยงานโดยไม่ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สำหรับตัวอย่างของโครงการ Flagship ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาทิ

1. BCG in Action (Bio-Circular-Green Economy) โดยมีตัวอย่างโครงการ เช่น ระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐานส่งออก แหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่จากแมลง Zero-waste นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย Active Ageing นวัตกรรมอาหารฮาลาล และการท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น

2. Tech-based Acceleration Program แพลตฟอร์มที่เร่งการเกิด Innovative Startup และ Tech-based Enterprise

3. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ขับเคลื่อนเขตนวัตกรรมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน มีบริษัทนวัตกรรมในพื้นที่จำนวน 90 ราย มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ 634 โครงการ และมีบุคลากรวิจัยและพัฒนาจำนวน 2,620 คน

4. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับพื้นที่ โดยจะช่วยบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการในภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ (ตามจุดแข็งของแต่ละพื้นที่) เช่น 1) ภาคเหนือ เน้นอาหารอินทรีย์ การเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากข้าว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหรรมดิจิทัล 2) ภาคกลาง เน้นชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) เครื่องมือแพทย์ การบริการ อาหารฟังก์ชั่น และ Smart Materials 3) ภาคอีสาน เน้นปศุสัตว์ เชื้อเพลิงชีวภาพ อาหารฟังก์ชั่น เทคโนโลยีการผลิต และ 4) ภาคใต้ เน้นอาหารทะเล อาหารฮาลาล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาง/ปาล์ม ท่องเที่ยว

5. การสร้างแรงบันดาลใจเด็ก เยาวชน ให้เกิดความตื่นตัวและพัฒนาไปสู่การเป็นนวัตกร และผู้ประกอบการในอนาคต ในรูปแบบ Public-Private Partnership รองรับเด็กและเยาวชนปีละ 2,000,000 คน เช่น Futurium Inspirium Planetarium Fab Lab &Co-working Space เป็นต้น

6. Work-integrated Learning เพื่อผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)

7. ไทยอารี (Thai Ageing Research & Innovation Platform) มุ่งทำงานเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย สร้างงานวิจัยที่มีผลต่อนโยบายของประเทศ รวมถึงการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

8. ชุมชนนวัตกรรม เน้นการพัฒนานักขับเคลื่อนชุมชน ซึ่งเป็นตัวกลางสนับสนุนให้ชุมชนคิดต่อยอดจากทุนหรือจุดแข็งที่แต่ละพื้นที่มี และช่วยเหลือเชื่อมโยงชุมชนสู่องค์ความรู้ แหล่งทุนและตลาด ซึ่งมหาวิทยาลัยท้องถิ่น มูลนิธิ ตลอดจนหน่วยส่งเสริมของภาครัฐที่กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเร่งให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นและขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้

9. AI for All โครงการที่เน้นให้ประชาชนเข้าถึงสื่อต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี AI และส่งเสริมให้เกิดแรงงานรวมถึงนวัตกร ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีโดยใช้ AI หรือ Machine Learning ได้ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดองค์กรที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเทคโนโลยี AI ได้

10. เพิ่มจำนวนผลงานวิจัยที่มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL : Technology Readiness Levels) ที่อยู่ในระดับสูง เช่น TRL 5 – 7 เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของ Tech-Based Enterprise ของประเทศไทยในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :