ไม่พบผลการค้นหา
2-3 วันก่อน (11-13 ก.ค.2565) บริเวณข้างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) มวลชนอิสระร่วมกันจัดกิจกรรม ‘ยืนหยุดละเมิดสิทธิประกันตัว’ ก่อนจะยื่นหนังสือเรียกร้องให้ UN จับตาดูการละเมิดกติกา ICCPR ของกระบวนการยุติธรรมไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีประชาชนถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวถึง 23 คนด้วยกัน

หลายคนเป็นเพียงเยาวชน และถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก

หลังตัวแทนมวลชนได้เข้ายื่นหนังสือให้กับนายเดวิด เมอร์ฟี่ ตัวแทนสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อย พวกเขาระบุว่า ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองมาตลอดจากองค์กรในประเทศ แต่สถานการณ์การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขังกลับแย่ลงทุกวัน การเรียกร้องต่อองค์กรระหว่างประเทศจึงเป็นอีกหนึ่งหนทาง เพื่อคืนความยุติธรรมกับผู้ถูกคุมขังให้ได้รับสิทธิประกันตัวออกมาต่อสู้คดี

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญทั้งหมด 7 ฉบับจาก 9 ฉบับ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ถือเป็นกำหนดกติกาที่รัฐต้องเคารพและป้องกันสิทธิส่วนบุคคลโดยห้ามเลือกปฏิบัติ ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ 29 ต.ค. 2539 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2540

ICCPR มีเนื้อหาเพื่อมุ่งเน้นคุ้มครองสิทธิของบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง รวมถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการโยกย้ายถิ่นฐาน สิทธิในการมีเสรีภาพชุมนุมโดยสงบ สิทธิในการมีเสรีภาพรวมกันเป็นสมาคม สิทธิในความเป็นส่วนตัว เป็นต้น โดยแต่ละประเทศต้องมีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนร่วมกันทุกๆ 4 ปีครึ่ง เพื่อติดตามดูว่าประเทศภาคีปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่

จากการกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ 3 เมื่อวันที่ 23-24 มี.ค. 2565 รัฐบาลไทยได้ตอบรับรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน 218 ข้อจากทั้งหมด 278 ข้อที่ได้รับจากที่ประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564  ในจำนวน 60 ข้อที่ไม่ยอมรับนั้น มีอยู่ 12 ข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งนานาประเทศเรียกร้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนี้กับเด็กและเยาวชน ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากระทรวงการต่างประเทศว่าได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องใดไปแล้วบ้าง 

ปัจจุบันจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงจำนวนผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทั้งหมด 23 คน แบ่งเป็น 

  • 5 คน ถูกคุมขังจากการเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 ได้แก่ บุ้ง เนติพร, ใบปอ, สมบัติ ทองย้อย, พลทหารเมธิน และพรชัย ยวนยี (แซม ทะลุฟ้า)
  • 14 คน ถูกดำเนินคดีในการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 11, 14, 15 และ 19 มิ.ย. 65 โดยมีเยาวชน 3 คนคือ วัชรพล จตุพล และ“ร็อก” ธนรัตน์ 
  • 2 คน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ในข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครอง ขณะที่กำลังไปร่วมงาน #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม 
  • 1 คนคือนายพรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกคุมหลังเข้ามอบตัว กรณีถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปาระเบิดปิงปองหน้ากรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 
  • เอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกคุมขังหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีโพสต์เล่าเรื่องเพศในเรือนจำ ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ทั้งหมดควรได้สิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี แต่ศาลกลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าจะมีการหลบหนี อาจยุ่งกับหลักฐาน และกระทำความผิดซ้ำ แม้ผู้ต้องหาบางคนเข้ามอบตัวโดยไม่มีหมายจับก็ตาม 

ที่ผ่านมา บุ้งและใบปอก็เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ผ่านการอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน จนมีผลกระทบกับสุขภาพ และยังมีกรณี 2 ผู้ต้องขังคดีการชุมนุมบริเวณดินแดง พยายามฆ่าตัวตายโดยการกรีดข้อมือและทานยานอนหลับ 64 เม็ด รายหนึ่งเปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เขารู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม และหวังจะได้รับการประกันตัวมาโดยตลอด เพราะต้องการออกไปหาหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ในข้อกล่าวหาเผารถตำรวจ เนื่องจากเขาเข้ารายงานตัวกับตำรวจตั้งแต่ก่อนมีหมายจับ และนี่เป็นการถูกดำเนินคดีครั้งแรกของเขา

ในหนังสือที่ตัวแทนมวลชนอิสระยื่นให้กับ UN แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยเข้าข่ายละเมิดข้อตกลงตามกติกา ICCPR ข้อ 9 (3) ที่กล่าวถึงการควบคุมตัวบุคคลในข้อหาทางอาญา จะต้องมีสิทธิได้รับการปล่อยตัว ระหว่างรอพิจารณาคดี และ ข้อ 14 ที่มีส่วนหนึ่งกล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานจนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด”

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระและนักกิจกรรมทางการเมือง ที่เข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดละเมิดสิทธิประกันตัว เปิดเผยว่า แม้ UN ไม่สามารถเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศได้ แต่การยื่นหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองได้ โดยที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมล้วนมีความหวังที่จะได้เห็นความเป็นธรรมในสังคมประชาธิปไตยแห่งนี้ และยังคงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ประชาชนสมควรจะได้รับในทุกวิถีทางที่พวกเขาจะทำได้

ความคลุมเครือในกระบวนการยุติธรรมไทยนั้นไม่ได้เพียงส่งผลต่อความไม่มั่นคงในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของไทยในเวทีการเมืองโลกอีกด้วย เรื่องนี้สะท้อนออกในการจัดอับดับดัชนีความยุติธรรมโลก  (Worold Justice Project) ซึ่งอันดับของประเทศไทยดูเหมือนจะตกต่ำลงเรื่อยๆ 

2558 – อันดับ 56 จาก 102 ประเทศ 

2559 -  อันดับ 64 จาก113 ประเทศ

2560 - อันดับ 71 จาก 113 ประเทศ

2561 - อันดับ 71 จาก 113 ประเทศ 

2562 - อันดับ 76 จาก 126 ประเทศ

2563 – อันดับ 71 จาก128 ประเทศ 

2564 - อันดับ 80 จาก 139 ประเทศ 

ที่มา:

รายงานโดย ปรีชญา บุญมี