ไม่พบผลการค้นหา
เปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ปิดฉากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษเกือบ 400 ปี

บาร์เบโดส ประเทศเกาะในแถบตะวันออกของแคริบเบียน เป็นประเทศในเครือจักรภพที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถอดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นประมุขของรัฐ และจัดตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ

“จากวันนี้และตลอดไป ขอประกาศให้บาร์เบโดสเป็นสาธารณรัฐ”

ซานดรา เมสัน ประธานาธิบดีคนแรก ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศแทนควีนอลิซาเบธ ประกาศอย่างเป็นทางการในพิธีเฉลิมฉลองในค่ำคืนวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา

สาธารณรัฐใหม่ของโลกเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเชียร์ของชาวบาร์เบเดียนในงานเฉลิมฉลอง ณ กรุงบริดจ์ทาวน์ เมืองหลวงของประเทศ เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจอย่างเป็นทางการ ได้มีการแสดงความเคารพครั้งสุดท้ายต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ก่อนที่ธงประจำพระองค์ของกษัตริย์อังกฤษจะถูกลดระดับลง และถูกแทนที่ด้วยธงชาติบาร์เบโดส

ยุคใหม่ของสาธารณรัฐบาร์เบโดสปิดฉากอิทธิพลของอังกฤษที่มีมายาวนานเกือบ 400 ปี รวมถึงช่วงเวลาที่เกาะแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

บาร์เบโดสเป็นอาณานิคมทาสแห่งแรกของอังกฤษที่เข้ามายึดครองเกาะนี้ครั้งแรกในปี 1627 ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ เกาะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสำคัญที่ใช้แรงงานทาสจากแอฟริกา บาร์เบโดสได้รับเอกราชในปี 1966 รวมแล้วจึงใช้เวลายาวนาน 55 ปีในการเริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ปราศจากอิทธิพลของอังกฤษ


REUTERS บาร์เบโดส สาธารณรัฐ.JPG

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และ ซานดรา เมสัน ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐบาร์เบโดส

REUTERS บาร์เบโดส สาธารณรัฐ.JPG

ริฮานนา เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองในครั้งนี้ด้วย และได้รับการแต่งตั้งเป็น "ฮีโร่แห่งชาติ"


เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ ริฮานนา นักร้องชื่อดังชาวบาร์เบเดียน เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย โดยเจ้าชายแห่งเวลส์ตรัสในงานว่า "ความโหดร้ายทารุณของการค้าทาส จะเป็นตราบาปในประวัติศาสตร์ของเราตลอดไป" และตรัสว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะดำเนินต่อไปแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญก็ตาม

ควีนอลิซาเบธ ทรงส่ง "ความปรารถนาดีที่อบอุ่นที่สุด" ให้กับบาร์เบโดส และขอให้ประเทศ “มีความสุขความสงบ และความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต" ทรงกล่าวว่า บาร์เบโดสเป็น "ที่พิเศษ" ในใจของเธอ

บาร์เบโดสประกาศแผนการที่จะเป็นสาธารณรัฐตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดยจะยังคงสถานะเป็นประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพ

ก่อนบาร์เบโดส ในปี 1992 ประเทศล่าสุดในเครือจักรภพที่เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ คือ มอริเชียส ประเทศเกาะนอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้

ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเฟพีว่า การเคลื่อนไหวของบาร์เบโดสอาจกระตุ้นการเป็นสาธารณรัฐในประเทศสมาชิกเครือจักรภพอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจาเมกา ซึ่งพรรคการเมืองหลักสองพรรคสนับสนุนให้แยกตัวออกจากระบอบกษัตริย์โดยสิ้นเชิง

โจ ลิตเติล บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Majesty ในลอนดอนกล่าวว่า การตัดสินใจของบาร์เบโดสเป็น “ความก้าวหน้าตามธรรมชาติ” ตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของควีนอลิซาเบธที่สอง ในปี 1952

“ผมคิดว่า คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดขึ้นต่อไป ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดในรัชกาลปัจจุบันนี้ แต่อาจจะเป็นรัชกาลหน้า และอาจจะเกิดอย่างรวดเร็วขึ้นด้วย” เขากล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี


กระบวนการเปลี่ยนผ่านโดยกลไกรัฐสภา ในห้วงเวลาที่ 'สาธารณรัฐ' ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของทุกคน

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อ ซานดรา เมสัน ประกาศบอกกับประชาชนเรื่องการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีใครในบาร์เบโดสรู้สึกตกใจกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะการอภิปรายถกเถียงเรื่องนี้มีมาตลอดเวลา 40 ปี และนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1966 การเป็นสาธารณรัฐ ได้กลายเป็นประเด็นศูนย์กลางของการพยายามปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่สำคัญทุกครั้ง

มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของบาร์เบโดสเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนครั้งนี้ การเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ คือ เป้าหมายที่เธอใช้หาเสียง และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกเมื่อปี 2018 มอตต์ลีย์เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งหมายความว่า ชาวบาร์เบโดสมอบอำนาจที่ชัดเจนให้เธอล้มระบอบกษัตริย์

เป้าหมายต่อมาคือการได้เสียงข้างมาก 2/3 ในสภา ทั้งส.ส. และส.ว. แต่มอต์ตลีย์รู้ดีว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะพรรคของเธอชนะที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา อีกทั้งการเลิกรากับสหราชอาณาจักรนั้นได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองมาโดยตลอด

ในเดือนพฤษภาคม 2021 คณะกรรมการที่ปรึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่สาธารณรัฐ (Republican Status Transition Advisory Committee - RSTAC) ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีหน้าที่ในการวางแผนและจัดการการเปลี่ยนผ่านของประเทศจากราชาธิปไตยสู่การเป็นสาธารณรัฐ ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน

แม้จะฟังดูเป็นกระบวนการที่ราบรื่น แต่ก็มีข้อกังขาเกิดขึ้น ว่าเหตุใดมอตต์ลีย์จึงเลือกผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จในช่วงเวลาที่ประชาชนไม่มีอารมณ์จะสนใจเรื่องระบอบการปกครอง เพราะต้องเผชิญกับพิษโควิดที่กระทบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่พยายามฟังเสียงของสาธารณะอย่างเพียงพอ เนื่องจากมอตต์ลีย์เลือกไม่ใช้วิธีการทำประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนเคยให้คำสัญญาไว้

ต่อจากนี้ไป สาธารณรัฐบาร์เบโดสจะเข้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่หลายฝ่ายหวังว่าจะเน้นการมีส่วนร่วมของสาธารณะมากกว่ากระบวนการที่ผ่านมา


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2021/11/29/barbados-set-to-become-a-republic-ditching-british-queen

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-59470843?fbclid=IwAR15g5BamfHrJc5sUOODILgxz3FzUR0-slepElUTANIznFB3r4gNEFfQBQA

https://constitutionnet.org/news/barbadoss-long-drawn-out-promise-republic?fbclid=IwAR1mhSMheUCdt0TKFNWmB_bd4xHCUS4_ZLJLQeSJXpIaJSDIirTCV58FygU

https://foreignpolicy.com/2021/06/28/barbados-republic-queen-elizabeth-monarchy-caribbean/?fbclid=IwAR3byhaURGs_Z-fGKjGD3-4a2IwhdSubfEk_uWNE_wxwY2FRmeZvgPEgf5c