จากที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2563 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในที่ประชุม โดยหนึ่งในสาระสำคัญของการประชุม คือการร่วมหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้มีเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดความแออัดในการรอรับยา และลดความเสี่ยงของผู้มีเชื้อเอชไอวีต่อการติดเชื้อโควิด-19 จึงขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ในทุกสิทธิการรักษา จ่ายยาต้านไวรัส เป็นจำนวนอย่างน้อย 3-6 เดือน แก่ผู้มีเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่ (กินยาต้านไวรัสต่อเนื่องสม่ำเสมออย่างน้อย 1 ปี กดระดับไวรัสในเลือดได้สำเร็จ ไม่มีอาการข้างเคียงจากการกินยา ไม่มีโรคอื่นๆ แทรกซ้อน ไม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร) เพื่อให้การบริการดูแลรักษาผู้มีเชื้อเอชไอวีไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
ด้านนางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการยาต้านไวรัสให้กับผู้มีเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมจะสามารถรับยาต้านไวรัสได้ครั้งละอย่างน้อย 3 เดือน และในปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 สำนักงานประกันสังคมจะปรับระบบการบริหารจัดการยาให้เป็นระบบเดียวกันกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่ สามารถรับยาได้นานครั้งละ 6 เดือน
ขณะเดียวกันนายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบจัดเก็บขององค์การเภสัชกรรมที่ได้สำรองไว้ ขณะนี้ยืนยันว่า ยาต้านไวรัสมีปริมาณเพียงพอและสามารถที่จะสนับสนุนให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ จ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้มีเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่ได้นานถึงครั้งละ 6 เดือน
จากข้อมูลพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 479,550 คน ผู้มีเชื้อที่กินยาและมีอาการคงที่สามารถกดระดับเชื้อไวรัสได้สำเร็จ จำนวน 282,245 คน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวฯ จะต้องเข้ามารับยาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาล กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ได้กำหนดแนวทางสำหรับโรงพยาบาล เรื่องการจัดบริการยาต้านไวรัส ตามอาการทางคลินิก ความต้องการของผู้รับบริการ และตามบริบทของโรงพยาบาล (Differentiated Care ) โดยมีรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การจ่ายยาต้านไวรัสนาน 6 เดือน (Multi-Month Dispensing : MMD) การส่งยาต้านไวรัสไปยัง รพ.สต. ใกล้บ้าน หรือส่งยาต้านไวรัสผ่านทางไปรษณีย์(Refer to Refill) เพื่อลดความแออัด ลดภาระที่ไม่จำเป็นของบุคลากรทางการแพทย์ ในระยะยาวสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาและความพึงพอใจในการให้บริการต่อผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :