นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในไทยว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ให้กลุ่มเป้าหมายระยะแรกใน 13 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 13 มี.ค. 64 ฉีดวัคซีนรวม 44,963 ราย ส่วนใหญ่ฉีดได้เกือบครบแล้ว เหลือเพียง 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี สมุทรสาคร และ กทม. จะฉีดครบภายในสัปดาห์หน้าตามแผนที่วางไว้
จากการทบทวนข้อมูลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดนั้น คนไทยมีความเสี่ยงต่ำกว่าชาวยุโรป อันตรายคือเมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นก้อนเลือดกระจายไปอุดตันหลอดเลือดในปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนล้มเหลวและอาจทำให้เสียชีวิตได้
โดยภาพรวมประชาชน 1 ล้านคนอาจมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เท้าได้ประมาณ 10 คน เช่น หากฉีดวัคซีนให้กับคน 3 ล้านคนโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันคือ 30 คน ถือว่าอยู่ในภาวะปกติ
ดังนั้น กรณีที่พบลิ่มเลือดอุดตัน 22 คนในผู้รับการฉีดวัคซีน 3 ล้านคน จึงไม่ได้สูงผิดปกติ แต่หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นจาก 30 คนเป็น 60 คน คือเพิ่มเป็น 2 เท่า ถือว่าผิดปกติ
นอกจากนี้คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสอบทานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การอนามัยโลก และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าวัคซีนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัย ไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดมากผิดปกติจากสถานการณ์ที่เคยเป็น แนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า ได้รับคำยืนยันในเดือน มี.ค.นี้จะมีวัคซีนจากซิโนแวค ทยอยเข้ามาในประเทศไทย 8 แสนโดส และเดือน เม.ย.อีก 1 ล้านโดส
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการระบาดที่พบเรื่อยๆ จึงต้องมีการปรับแผนอยู่ตลอด โดยขณะนี้กำลังเจรจาขอเพิ่มอีก 5 ล้านโดส จากผู้ผลิตจีน
"เป็นการสั่งซื้อ เพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่วัคซีนหลัก ก็ยังเป็นของแอสตราเซนเนก้า ซึ่งจะให้บริการในช่วงกลางปีนี้" อนุทินกล่าว
อนุทินกล่าวอีกว่า ยืนยันว่าประเทศไทยสั่งจองวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และยังมีแผนสำรองที่พร้อมปรับตามสถานการณ์