การเติบโตของเศรษฐกิจอีสานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว ณ ราคาปัจจุบัน เฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ตามข้อมูลจีดีพีรายภาค และตามข้อมูลจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งพบว่า รายได้ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานร้อยละ 79 มาจากนอกภาคการเกษตร ขณะที่ภาคเกษตรสร้างรายได้เพียงร้อยละ 21 แต่ภาคเกษตรก็ยังมีกำลังแรงงานส่วนใหญ่อยู่ดี ทั้งที่หลายจังหวัดในภาคอีสานเศรษฐกิจเติบโตด้วยภาคการผลิต บริการ งานเซอร์วิสซัพพอร์ตมากขึ้นแล้ว
ขณะที่ ช่องว่างอยู่ที่การกระจายรายได้และการสร้างผลิตภาพในพื้นที่ คนรุ่นใหม่ลูกหลานชาวอีสาน (รวมถึงอีกหลายภาคในประเทศไทย) จำนวนมากยังต้องออกจากถิ่นฐานไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือ เมืองใหญ่อื่นๆ แทนการทำงานในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม 'อีสานมุมใหม่' พบว่า มีธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งเลือกจะเปิดสำนักงานใหญ่ในภาคอีสาน เช่น บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ จ.ร้อยเอ็ด หรือ กรณีธนาคารกสิกรไทย เปิด 'เคแบงก์ คอนแท็กต์ เซ็นเตอร์' ที่ จ.ขอนแก่น ให้เป็น 1 ใน 3 ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร นอกจากกรุงเทพฯ และพิษณุโลก
ทั้ง 2 บริษัท เป็นธุรกิจค้าปลีกและบริการที่สร้างงานให้กับคนอีสานรุ่นใหม่ ให้สามารถทำงานในถิ่นฐานด้วยรายได้ที่ไม่น้อยไปกว่าการทำงานในตำแหน่งเดียวกันในกรุงเทพฯ เป็นงานที่มีรายได้ดี อยู่ใกล้ครอบครัว คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และค่าครองชีพไม่สูงเหมือนในกรุงเทพฯ
โตจากภูธร ตั้งสำนักงานในถิ่นเกิด และสร้างงานให้คนรุ่นใหม่
บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เลือกใช้พื้นที่ต่างจังหวัดเป็นที่ตั้งสำนักงาน ทั้งที่ปัจจุบัน สยามโกลบอลเฮ้าส์คือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) จากระดับ 33,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2557 ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 76,400 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1.31 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2561 มีสินทรัพย์รวมกว่า 30,500 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเติบโตจาก 702 ล้านบาทเมื่อ 3 ปีก่อน เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,584 ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 56
'วิทูร สุริยวนากุล' ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ เปิดเผยว่า การเลือกมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งและจุดกำเนิดของธุรกิจ แม้ว่า ปัจจุบันจะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็เพื่อพิสูจน์ให้คนทำธุรกิจเห็นว่า เส้นทางการเติบโตของคนทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่เมืองใหญ่ๆ หรือ กรุงเทพฯ เท่านั้น อย่างนักธุรกิจจีนใหญ่ๆ หลายคนก็ไม่ได้มาจากปักกิ่งแห่งเดียว เป็นต้น
ขณะที่ 'เจษฎา นามเชียงใต้' โปรแกรมเมอร์ บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ เล่าว่า เขาจบการศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม และมีภูมิลำเนาอยู่ที่มหาสารคาม
ปัจจุบันทำหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ขายออนไลน์ของสยามโกลบอลเฮ้าส์ เขาเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ไม่นาน หลังเรียนจบใหม่ๆ ก็ทำงานฟรีแลนซ์ รวมถึงเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ทำงานที่สยามโกลบอลเฮ้าส์ได้ 2 ปีกว่า และยังพักอาศัยอยู่ที่มหาสารคาม แต่ละวันขับรถไป-กลับระหว่างบ้านที่มหาสารคามกับที่ทำงานที่ร้อยเอ็ด รวมแล้วประมาณ 80 กิโลเมตร แต่ระยะทางขนาดนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเขา เพราะเขาบอกว่า ทำงานที่นี่สบายใจ อยู่ใกล้บ้าน เพื่อนร่วมงานดี คุยกันรู้เรื่อง
"ในแง่รายได้ระหว่างทำงานที่กรุงเทพฯ กับทำงานที่ร้อยเอ็ดไม่ได้ต่างกันมาก แต่มันได้ในแง่ความสบายใจ เพราะอยู่ในภูมิลำเนาเราเอง เวลาเจอผู้คนรอบข้าง เพื่อนที่ทำงาน มันก็คุยกันรู้เรื่องมากกว่า ช่วยเหลือกัน และอยู่ที่นี่ (สยามโกลบอลเฮ้าส์) อยู่กันเหมือนพี่น้อง สามารถปรึกษากันได้เกือบทุกเรื่อง"
ที่สำคัญอยู่บ้านก็เก็บเงินได้ เพราะค่าครองชีพไม่ได้สูงเท่ากับทำงานในเมือง อย่างเรื่องราคาค่าที่พักก็ต่างกันกว่าครึ่ง ดังนั้น การกลับมาทำงานใกล้บ้านจึงลดค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และมีเงินเก็บมากกว่าทำงานในเมือง
"อีกอย่างที่นี่ ผู้บริหารเป็นคนมีวิสัยทัศน์การทำธุรกิจ ควบคุมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน โจทย์ในการทำงานส่วนใหญ่ที่ได้มา ก็ทำให้เราได้มีความรู้ใหม่ ที่เราไม่เคยได้ลอง ก็ได้มาลองที่นี่ และเป็นเหมือนโรงเรียนอีกแบบให้เราได้ฝึกฝนกระบวนการคิดการทำงานเราในอีกระดับหนึ่ง" เจษฎา เล่า
ส่วน 'พลอยชนกวรรณ์ หวังผล' โปรแกรมเมอร์ชำนาญการ พนักงานอีกรายของ บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ เล่าว่า เธอเป็นคนโคราช จบการศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำงานที่สยามโกลบอลเฮ้าส์มาเกือบ 8 ปี ซึ่งถือเป็นที่ทำงานที่แรกและที่เดียวมาตั้งแต่เรียนจบ
เธอยืนยันว่า ถึงสายงานแบบเธอจะเป็นที่ต้องการของตลาดมีการแย่งตัวคนทำงาน แต่เธอก็มีความสุขและชอบที่จะทำงานที่นี่ ไม่เคยคิดจะเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะจากที่เคยไปฝึกงานช่วงสั้นๆ ก่อนเรียนจบ เธอได้สัมผัสว่า การอยู่กรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่ที่นี่เธอสามารถตื่น 7 โมงครึ่ง ก็สามารถเข้ามาทำงานทันตามเวลาเข้างาน 8.30 น.
อีกทั้ง การทำงานบริษัทแห่งนี้ยังเปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ได้พัฒนาตัวเอง และบริษัทก็พร้อมสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตัวเอง ผ่านการส่งไปฝึกอบรมหลักสูตรใหม่ๆ เป็นต้น
"ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องการเขียนโปรแกรม ถือว่าที่เรียนจบมาจนถึงวันนี้ ประสบการณ์ในการทำงานได้มากกว่าที่เรียนมา และถึงมีคนมาซื้อตัว ก็ไม่ไป ไม่อยากไป เพราะที่นี่มั่นคง เวลาทำงานก็สบายใจ เรื่องไหนที่เราไม่รู้ บริษัทก็จะส่งไปอบรม ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ หรือ คอร์สที่เราสนใจ บริษัทก็ให้โอกาสส่งไปอบรม ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เราทำงานง่ายและได้พัฒนาตัวเอง" พลอยชนกวรรณ์ กล่าว
งานในต่างจังหวัดหาไม่ยาก ถ้าไม่เลือก
ไม่ต่างจาก 'ณัฐพล หลงกุล' ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายดูแลประสบการณ์ลูกค้า หรือ care specialist เคแบงก์ คอนแท็กต์ เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น ผู้ให้บริการตอบคำถามลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยผ่านสายโทรศัพท์ที่มาจากทั่วประเทศและทั่วโลก เขาเล่าว่า เรียนจบสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็เคยไปทำงานอยู่ในกองถ่ายทำละครของบริษัททำละครแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่พอทราบว่าธนาคารกสิกรไทยมาเปิดคอนแท็ก เซ็นเตอร์และเปิดรับสมัครคนทำงาน จึงเข้ามาสมัครและได้งานนี้
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าตัวเองอายุยังน้อย ต้องลองทำหลายอย่างเพื่อให้มีประสบการณ์ เพราะท้ายที่สุดก็ต้องไปช่วยงานของครอบครัวที่ทำเกี่ยวกับสัตว์และตั้งอยู่ในขอนแก่นอยู่แล้ว
"ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราได้รายได้สูงก็จริง แต่ค่าครองชีพก็สูงด้วย ไม่ว่าจะก้าวเท้าไปตรงไหน ก็มีค่าใช้จ่าย แต่พอกลับมาอยู่บ้าน มันก็ลดค่าใช้จ่ายได้ และก็ทำให้เราได้อยู่กับครอบครัว พ่อแม่ อีกอย่างที่นี่เพื่อนร่วมงานก็ดี สวัสดิการก็ดี มีความมั่นคงระดับหนึ่ง และรายได้ก็โอเค ค่อนข้างอยู่ได้"
ณัฐพลเล่าด้วยว่า เพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกันส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แถวบ้าน แต่ก็จะไปอยู่บริษัทใหญ่ๆ ในสายอาชีพสัตวศาสตร์ เช่น ไปทำงานซี.พี. เบทาโกร หรือไปเป็นครู ไปเรียนต่อปริญญาโท เป็นต้น
ส่วน 'ปิยนุช อุตมะ' หัวหน้าฝ่ายดูแลประสบการณ์ลูกค้า หรือ K-plus care supervisor เคแบงก์ คอนแท็กต์ เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เป็นอีกตัวอย่างของคนเลือกจะทำงานในท้องถิ่น เพราะมีงานให้ทำ เธอเล่าว่า เธอเป็นคนหนองคาย จบบัญชีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทใหญ่ค่ายมือถืออีกแห่งหนึ่ง ก่อนที่คอนแท็กต์ เซ็นเตอร์ของธนาคารกสิกรไทยจะเปิดที่ขอนแก่น แต่พอธนาคารกสิกรไทยมาเปิดคอนแท็กต์ เซ็นเตอร์ที่นี่ ก็เข้ามาสมัครงาน ด้วยความชอบพูดคุยสื่อสารกับคนเยอะๆ มีความสุขที่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่โทรเข้ามาขอความช่วยเหลือ
ส่วนในแง่รายได้ เธอบอกว่า ก็โอเค มีเงินเก็บ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานที่จ.หนองคายบ้านเกิด กับ จ.ขอนแก่น มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน อยู่หนองคายได้อยู่กับที่บ้านกับครอบครัวก็จริง แต่รายได้ที่เข้ามา อยู่ขอนแก่นรายได้ดีกว่า อีกทั้งในเรื่องสวัสดิการของ K-Plus Contact Center ก็ถือว่าดีกว่า
เธอยืนยันว่า การหางานทำในอีสานไม่ยาก ถ้าไม่เลือกงาน อีกอย่างเธออาจโชคดีที่เข้ามาอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ แม้ที่ศูนย์ขอนแก่นจะมีพนักงานเพียง 400 คนซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคอนแท็กต์ เซ็นเตอร์ ของกสิกรไทยอีก 2 แห่งที่กรุงเทพฯ และพิษณุโลก แต่ที่นี่ก็เป็นที่ทำงานที่สนุก มีรายได้ที่ทำให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ครอบคลุม มีเงินส่งที่บ้าน และมีเงินเก็บได้ด้วย ซึ่งเธอบอกด้วยว่า ถึงอยู่กรุงเทพฯ เธอก็มีเงินเก็บได้ แต่ถ้าดูในแง่ค่าครองชีพ การใช้ชีวิตอยู่ขอนแก่นก็ดีกว่า
"แต่ละอาชีพก็มีความแตกต่างกันไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความคิด ทัศนคติของแต่ละคน ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนเลือกจะอยู่ที่ไหนมากกว่า ถ้ามีความสุขตรงไหน ก็อยากให้เลือกอยู่ที่นั่น เพราะแต่ละคนก็มีเงื่อนไขต่างกันไป" ปิยนุช กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตำแหน่งงานด้านบริการ หรืองานภาคอุตสาหกรรม โรงแรม การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งค้าปลีกในอีสาน ถือว่ายังมีไม่มากนัก และการจะทำงานที่มีรายได้เริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป ถ้าไม่ใช่ตำแหน่งงานในสถาบันการศึกษา ก็ยังนับว่าหายาก แต่เมื่อมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ จ้างแรงงานมีฝีมือ มีทักษะระดับสูง ก็ย่อมให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอยากอยู่ที่บ้าน ทำงานใกล้บ้าน
เพราะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การทำงานก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ดังนั้น หากมีภาคธุรกิจที่ปักหมุดขยายกิจการหรือสร้างงานในต่างจังหวัดได้ ก็ย่อมจะช่วยจูงใจคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐาน มุ่งแต่ต้องเข้ามาหางาน ทำงานเผชิญชีวิตในกรุงเทพฯ เท่านั้น อีกต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :