ไม่พบผลการค้นหา
โรงเรียนในเดนมาร์กเริ่มทยอยเปิดเรียนมาเกินสองสัปดาห์แล้ว ครูและนักเรียนต่างพยายามปรับตัว ควบคู่กับมาตรการที่รัดกุมของทางรัฐบาลเพื่อเดินหน้ากิจกรรมในประเทศและป้องกันโรคระบาด

เดนมาร์กคือหนึ่งในประเทศที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เป็นประเทศแรกๆของโลก โดยเริ่มต้นในวันที่ 11 มี.ค.และคงสถานะการล็อกดาวน์ไว้นาน 5 สัปดาห์เต็ม ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ขัดต่อวิถีชีวิตอย่างมาก แต่ประชาชนชาวเดนมาร์กพร้อมปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเต็มที่ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นมา นำไปสู่การเริ่มเปิดเมืองอีกครั้งในเฟสที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 เม.ย. 


เตรียมตัวเปิดภาคเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

TES เว็บไซต์ธุรกิจด้านการศึกษาเปิดเผยผ่านบทความนี้ว่า มาตรการการเปิดเมืองนี้อนุญาตให้โรงเรียนเด็กเล็กและระดับชั้นประถามศึกษาเริ่มกลับมาเปิดเรียนได้ ขณะที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษายังคงต้องอยู่ที่บ้านต่อไป รักษาระยะห่างทางสังคม และเรียนรู้จากที่บ้าน โดยการเปิดเรียนนี้ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนต้องการมอบ 'การศึกษา' ให้กับเด็กๆอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่นี่คือการให้โอกาสพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะมีเวลาส่วนตัว เวลาในการทำงาน และเวลาที่จะช่วยเหลือสังคมรอบข้างเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการนี้ เพราะยังไม่ต้องการให้บุตรหลานไปเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อที่โรงเรียน โดย เชอร์ลีย์ ยาคอปเซ็น อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมัธยมนานาชาติ Rygaards ในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ผู้ให้สัมภาษณ์กับบทความนี้กล่าวว่าการสื่อสารกับผู้ปกครองนั้นสำคัญมาก ครูทุกคนต้องอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจอย่างแท้จริงว่าทางโรงเรียนดำเนินมาตรการอะไรบ้างเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคน 

โดยยาคอปเซ็นเองได้เขียนอีเมล์หลายฉบับส่งตรงถึงผู้ปกครองทุกคน โดยอีเมล์ฉบับแรกส่งไปในวัน Good Friday อธิบายอย่างละเอียดถึงมาตรการของโรงเรียน จากนั้นก็ส่งไปอีกฉบับในวัน Easter Monday อธิบายและอัปเดตเพิ่มเติม ฉบับถัดมาส่งไปหลังการเปิดเรียนวันแรก และฉบับต่อมาก็อัปเดตหลังจากนั้น 3 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองทุกคนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่โรงเรียน โดยอีเมล์ทุกฉบับมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงเรียน

สำหรับครอบครัวที่สมาชิกมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทางโรงเรียนสนับสนุนให้บุตรหลานของครอบครัวนั้นอยู่ที่บ้านต่อไปเพื่อความปลอดภัย โดยโรงเรียนจะส่งงานและการบ้านไปให้เด็กๆทำระหว่างกักตัว ขณะที่ครูที่จำเป็นต้องอยู่บ้านก็สามารถทำงานจากที่บ้านได้เลย โดยทั้งหมดนี้เป็นการยึดหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข  


เปิดเทอมแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ?

การเปิดเรียนโดยต้องสร้างระยะห่างให้นักเรียนทุกคนอย่างน้อย 2 เมตรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เช่น 

  • ทำความสะอาดโต๊ะ ลูกบิดประตู สนามเด็กเล่น และพื้นที่เสี่ยงวันละ 2 ครั้ง
  • นักเรียนต้องรวมกลุ่มแยกตามระดับชั้นปีในการเดินทางเข้า-ออกโรงเรียน 
  • นักเรียนที่มีอาการป่วยต้องกลับบ้านทันที และต้องกลับไปอยู่บ้านอย่างต่ำ 48 ชม. (ถือเป็นความยากในฤดูที่ละอองเกสรดอกไม้กำลังฟุ้งกระจาย ทำให้หลายคนมีการไอจามเพราะเป็นโรคภูมิแพ้ตามปกติอยู่แล้ว)
  • เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนถูกจำกัดบริเวณการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ และต้องดูแลนักเรียนเฉพาะห้องเรียนของตนไม่เกิน 2 ห้อง
  • แต่ละชั้นเรียนถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม บางวิชาต้องใช้สถานที่ภายนอกอาคาร
  • ครูประจำวิชาช่วยครูประจำชั้นในการสอนเด็กๆทั้ง 2 ห้องที่ถูกแบ่งออก ครูพาร์ตไทม์หลายคนกลายมาเป็นครูประจำเรียบร้อย
  • นักเรียนแต่ละห้องสลับกันออกไปใช้เวลาในพื้นที่กลางแจ้ง และต้องทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนในห้องเดียวกันเท่านั้น
  • นักเรียนทุกคนต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียน นำอาหาร และน้ำดื่มมาเอง ห้ามมีการยืมกันเด็ดขาด
  • ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณโรงเรียนเด็ดขาด


มาตรการเข้มแบบนี้ นักเรียนปรับตัวกันอย่างไร ?

ในช่วงแรกของการเปิดเรียน ยาคอปเซ็นได้เห็นถึงพัฒนาการของเด็กๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป พวกเขาโตขึ้น และสามารถปรับตัวได้ ที่สำคัญนักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ว่าการประเมินคุณค่าของตัวเองและผลงานนั้นสำคัญมากแค่ไหน พวกเขายังเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้ เพราะไม่มีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือเหมือเมื่อก่อน แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆอย่างการเปิดขวดน้ำ พวกเขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำเองให้ได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีการสร้างเกมใหม่ๆขึ้นมาอีกด้วย โดยมี 'Social Distancing' เป็นไอเดียและกติกาหลักของเกม

ทั้งนี้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุด เห็นได้จากผู้ปกครองหลายคนที่แสดงการต่อต้านการลับมาเรียนของเด็กๆในช่วงแรก เรื่องคลายความกังวลและส่งบุตรหลานกลับเข้าโรงเรียนเรียบร้อย เนื่องจากมีความมั่นใจในการใส่ใจรายละเอียดในการออกมาตรการต่างๆของโรงเรียน และมีการอัปเดตความคืบหน้าต่างๆกับผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโจทย์ที่ยากและสำคัญชิ้นต่อไปหลังจากนี้ก็คือการรับมือกับการกลับมาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในอนาคตอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากพอ