ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' เปิดหลักฐาน กสทช. รับประโยชน์ทับซ้อนจากกลุ่ม CP ทำมติควบรวมทรู-ดีแทค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน 3 กรรมการฯ

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้ายื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบฐานที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากเป็นการตัดอำนาจตัวเองให้เหลือเพียง 'รับทราบ' ไม่ใช่ 'อนุมัติ' การควบรวม

โดย ศิริกัญญา ย้ำว่า ในการลงมตินั้นจะยื่นให้ไต่สวนกรรมการฯ 3 คน ได้แก่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งลงมติ 'รับทราบ' การควบรวม และ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ซึ่งงดออกเสียง ขณะที่มติของกรรมการฯ เสียงข้างน้อยทั้ง 2 คน ตนไม่เห็นความผิดปกติที่ต้องเอาผิด

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ยังขอให้ตรวจสอบประเด็นของผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากการแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระของทรู-ดีแทค ซึ่งมาตามประกาศของ กสทช. ไม่ได้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะมีผู้ถือหุ้นร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ Finansia Syrus ซึ่งมีประธานผู้บริหารเป็นผู้บริหารของกลุ่มบริษัททรูด้วย

ศิริกัญญา ยังเผยหลักฐานของผลประโยชน์ของ ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ที่ได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มบริษัท CP ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะกรรมการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และผลประโยชน์อื่นๆ ในฐานะนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เท่ากับว่า ต่อพงศ์ ไม่ควรจะอยู่ในห้องประชุมด้วยซ้ำ ดังนั้น การลงมติที่มีส่วนได้ส่วนเสียจึงถือเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ตั้งที่ปรึกษาผู้เป็นกรรมการอิสระในกลุ่ม CP ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นเดียวกัน

เมื่อมีการไต่สวนแล้วพบว่ามีความผิดจริง การลงมติรับทราบการควบรวมของ กสทช. จะถือเป็นโมฆะ แต่เนื่องจากกระบวนการของ ป.ป.ช.จะใช้เวลานาน จึงได้ร่วมมือกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินระงับการควบรวมไว้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความเสียหายโดยไม่สามารถรับผิดชอบได้

ศิริกัญญา ยังเผยว่า สำหรับกรณีที่ประชุม กสทช. มีมติอนุมัติใช้เงินจาก กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ก็มองได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยจะหาช่องทางเพื่อยื่นร้องต่อศาลปกครอง และทำข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันว่าผู้ร้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับมติดังกล่าวจริง เพื่อให้ศาลไม่ตีตกคำร้อง รวมทั้งจะยื่นให้ ป.ป.ช.ไต่สวนในกรณีนี้ต่อไปเช่นกันด้วย