สำนักข่าวไทย รายงานระบุว่า นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เผยถึงผลการหารือระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และกลุ่ม ซี.พี. ในวันนี้ (4 เม.ย.) มีความคืบหน้าร้อยละ 70-80 เหลือเพียงการเจรจารายละเอียดย่อยในข้อกฎหมาย โดยได้นำข้อเสนอที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์ 12 ข้อของซี.พี ออกไปหมดแล้ว
โดยคาดว่า การเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดังกล่าว จะมีขึ้นอีกครั้งหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหากได้ข้อสรุปจะส่งรายละเอียดทั้งหมดให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบทันที เชื่อขั้นตอนดังกล่าวจะไม่ล่าช้า
อย่างไรก็ตาม คาดว่า น่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค. นี้ พร้อมย้ำว่า แม้การเจรจาเสร็จแล้ว แต่ยังต้องเร่งรัดเรื่องการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงจะสามารถลงนามสัญญาได้
ทั้งนี้ เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงาน เงื่อนที่กลุ่ม ซี.พี. ได้ยื่นข้อเสนอนอก TOR มีทั้งหมด 11 ข้อที่เปิดเผยได้ ประกอบด้วย
1.ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี
2.ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR ร้อยละ 6.75 ต่อปี
3.รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1-6 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ
4.สามารถลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ลงมาเหลือร้อยละ 5 ได้ในอนาคต เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
5.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานเงินกู้เครือ ซี.พ. เนื่องจากปัจจุบันติดเพดานเงินกู้ หรือ Single Lending Limit ตามเกณฑ์ของธปท. อยู่
6.ขอให้รัฐบาลค้ำประกัน รฟท. หากมีปัญหาในภายหลัง
7.ผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 จากเดิมต้องจ่ายทันที ถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้
8.รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับร้อยละ 4 ให้กับโครงการ
9. ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทย
10.ถ้าหากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้วย
11.ห้าม รฟท. ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน ส่วนข้อ 12 ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :