ไม่พบผลการค้นหา
‘ไชยา’ เผยเสียงสะท้อนชาวนาอีสานไม่เห็นด้วย โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง เรียกร้องรัฐบาลทบทวน ชี้ทางเลือกลดต้นทุนการผลิตชาวนา ยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย

นายไชยา พรหมา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ‘จากการลงพื้นที่และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สส.อีสานในหลายจังหวัด ตลอดจนเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกร พบว่า เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาในภาคอีสานส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย กับโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ของรัฐบาล ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสียงสะท้อนที่ได้รับมา แสดงให้เห็นถึงความกังวลในหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น เกษตรกรต้องการให้คงไว้โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท เพราะมีความคล่องตัวมากกว่าโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ถือเป็นการมัดมือชกเกษตรกร อีกทั้งยังมีข้อกังวลในเรื่องของคุณภาพปุ๋ย และชีวภัณฑ์ที่ได้รับว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะมาจากที่กรมการข้าวเป็นผู้คัดเลือกปุ๋ย และเอกชนผู้ขายที่ร่วมโครงการไม่กี่เจ้าได้ประโยชน์ เปรียบเสมือนการยัดเยียดและมัดมือชกเกษตรกรเป็นการซ้ำเติมชาวนาหรือไม่

ไชยา ระบุ ‘ตนในฐานะ สส. ตัวแทนของประชาชน ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตเกษตรกรมาตลอด โดยเฉพาะภาคอีสาน และเคยทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่าโครงการนี้ได้รับการต่อต้านจากเกษตกรทั่วประเทศ ไม่เหมือนกับโครงการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท  ที่ได้รับเงินโดยตรง และสามารถนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ทุกอย่างครบวงจร” ต้องไม่ลืมว่า การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญ เช่น ระบบชลประทาน การวิเคราะห์ดิน  กลไกตลาด การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น หากต้องการเห็นผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยสูงขึ้น รัฐบาลควรลงทุนการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานอย่างเป็นระบบด้วย 


ดังนั้นทางเลือกของชาวนาที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต ยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย โครงการปุ๋ยคนละครึ่งกลับสร้างภาระให้ชาวนาต้องหาเงินสดมาจ่ายค่าปุ๋ยในส่วนของตนเองก่อน เปรียบเสมือนการ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน และสร้างภาระให้เกษตรกร


จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ถึงแม้โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเหลือเกษตรกร  แต่ยังไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลยังมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เช่น การจัดตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกร้องกันมาเป็นเวลานาน อีกทั้งมีข้อสังเกต ว่า โครงการนี้ มีลับลวงพรางนายทุนที่ได้ประโยชน์กับโครงการนี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ และพยายามผลักดันให้กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าวให้ยอมรับสูตรปุ๋ยไม่กี่สูตร ซึ่งจะเป็นการผูกขาดอยู่ไม่กี่รายที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ จึงต้องจับตามองต่อไปว่า มีผู้ประกอบการรายใดผ่านการคัดเลือก และมีการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวด้วยหรือไม่’