ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ด ทอท. มีมติเดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมมีมติยกเลิกผลการประมูลงานออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แจ้งว่า จากการประชุมคณะกรรมการ ทอท. เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) ที่ประฃุมมีมติให้เดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากนี้ ทอท. จะนำเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติต่อไปขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแนวทางการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ที่ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. โดยให้แยก 3 สัญญาประกอบด้วยกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร กิจกรรมเชิงพาณิชย์ และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ออกจากกัน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการในการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท. เสนอ โดยให้ฝ่ายบริหาร ทอท. ตรวจสอบข้อกำหนดและรายละเอียดให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก่อนจะดำเนินการประกาศต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุม ยังมีมติให้ยกเลิกผลการประมูลงานออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ซึ่งมีกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบี เอแอลพี - นิเคนเซกเก หรือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้รับเลือก โดยคณะกรรมการมอบหมายให้ ทอท. เป็นผู้ออกแบบเองโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2


ทำไม ทอท.ไม่ทำตามคำแนะนำสภาพัฒน์ ? 

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า 

ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่าบอร์ด ทอท.มีมติให้ ทอท.เดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือเทอร์มินัล 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิบนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทต่อไป ทั้งๆ ที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ได้ทักท้วงและเสนอแนะให้ ทอท.ดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทที่วางไว้ ดังนี้

1. เร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ซึ่งออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553

2. เตรียมโครงการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันตก

3. เร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งจะอยู่ทางทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ไม่ใช่บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บท ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งมอเตอร์เวย์

ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 มีการเสนอข่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงคมนาคมได้ส่งความเห็นของสภาพัฒน์ไปให้ ทอท.พิจารณา และให้ดำเนินการตามความเห็นสภาพัฒน์”

หลังจากนั้นไม่นาน คือเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 มีการเสนอข่าวความคิดเห็นของผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของสภาพัฒน์ โดย ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สภาพัฒน์จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.ที่เป็นผู้บริหารสนามบินหรือไม่”

ผมไม่ทราบว่าเลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคมโดยมีข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นจะรู้สึกอย่างไรต่อข้อสังเกตของ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถ้าเป็นผมคงรู้สึกไม่ดีแน่ๆ

สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 20 (10) ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561 ระบุให้สภาพัฒน์มีหน้าที่และอำนาจ “ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย แผน แผนงาน และโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งรัด ปรับปรุง หรือเลิกล้มโครงการพัฒนาอันหนึ่งอันใดเมื่อเห็นสมควร”

ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.สภาพัฒน์ระบุหน้าที่และอำนาจของสภาพัฒน์ไว้ชัดเจนเช่นนั้น ทอท.จะต้องรับฟัง จะตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าสภาพัฒน์จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ รมว.คมนาคมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ทอท.ได้ส่งความเห็นของสภาพัฒน์ไปให้ ทอท.พิจารณา และให้ดำเนินการตามความเห็นสภาพัฒน์ แต่ ทอท.ก็ยังไม่ยอมทำตาม

ผมอยากให้ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ย้อนพิจารณาถึงการคัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทของกลุ่มบริษัทอีพีเอ็มซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ ทอท. และทอท.ยอมรับในความเชี่ยวชาญด้านการบินของบุคลากรทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำงานในสังกัดของอีพีเอ็ม แม้กระนั้นก็ตาม ทอท.ก็ยังไม่ยอมทำตามข้อเสนอแนะของอีพีเอ็มที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดยอีพีเอ็มได้เสนอให้ขยายเทอร์มินัล 1 ก่อน และตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท

แทนที่จะทำตามคำแนะนำของสภาพัฒน์ รมว.คมนาคม และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาอีพีเอ็ม ทอท.กลับไปทำตามความเห็นของสมาคมขนส่งทางอากาศ (International Air Transport Association หรือ IATA) ที่อ้างว่าได้สอบถามความเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แล้ว พบว่าสายการบินสนับสนุนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดย ทอท.ได้นำความเห็นของสมาคมฯ เสนอต่อบอร์ด ทอท.ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้บอร์ด ทอท.ไม่ท้วงติงการเดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ของ ทอท.แต่อย่างใด

การนำความเห็นของสายการบินมาอ้างนั้นไม่น่ารับฟังได้ทั้งหมด เนื่องจากสายการบินไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบของการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 อย่างละเอียดรอบคอบ คงคิดแค่เพียงว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารในเทอร์มินัล 1 ได้เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงความไม่สะดวกของผู้โดยสารที่ต้องใช้รถไฟฟ้าถึง 3 สาย ประกอบด้วยลอยฟ้า 2 สาย และใต้ดิน 1 สาย ไม่ได้คำนึงถึงการต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าถึงกว่า 30,000 ล้านบาท และใช้เวลานานกว่าการขยายเทอร์มินัล 1 และคงไม่รู้ว่าเทอร์มินัล 2 จะไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปีตามที่ ทอท.อ้าง

ทั้งหมดนี้ จึงน่าคิดว่าอะไรทำให้ ทอท.ไม่ยอมทำตามคำแนะนำของสภาพัฒน์ และของ รมว.คมนาคม แต่กลับไปทำตามความเห็นของสมาคมขนส่งทางอากาศซึ่งไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพัฒนาประเทศไทยเลย หากมีความเสียหายเกิดขึ้น สมาคมฯ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ

จึงน่าติดตามว่า รมว.คมนาคมและสภาพัฒน์จะมีท่าทีอย่างไรกับความดื้อรั้นของ ทอท.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง