ไม่พบผลการค้นหา
ผู้จัดการศูนย์ความปลอดภัยทางถนนฯ เผยปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามเป้าหมายทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ระหว่างปี 2554 — 2563 ที่ตั้งเป้าลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง เพราะข้อจำกัดการบริหารจัดการ

โครงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย จัดเวทีคุยเรื่องถนนกาผ่านระบบ Zoom หัวข้อ “ต้องจัดการถนนแบบไหน คนไทยจะไม่เป็นเหยื่อถูกรถชน” สะท้อนปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า ห่วงระยะเวลา 10 ปี ในทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 — 2563 ประเทศไทยยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ในการลดอัตราการตายลงครึ่งหนึ่ง ให้อยู่ที่ 10 รายต่อแสนประชากร ซึ่งในขณะนั้นอ้างอิงจากตัวเลขฐานเดียว มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20 รายต่อแสนประชากร แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และเปลี่ยนมาใช้ข้อมูล 3 ฐาน ตัวเลขการตายจึงเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดในปี 2562 ที่ผ่านมา สรุปอยู่ที่ 29 รายต่อแสนประชากร ซึ่งสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่พอสมควร ขณะที่สถานการณ์ในปีนี้ แม้ในช่วงต้นปีดูเหมือนจะดีขึ้น แต่หลังการเดินทางกลับมาเป็นปกติ ตัวเลขอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตก็เริ่มกลับมาสูงขึ้น

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า จริงอยู่ที่ภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนในบ้านเรา กำลังลดลงอย่างช้าๆ แต่ในแง่ของการบริหารจัดการยังมีข้อจำกัดแทบทุกเรื่อง ซึ่งต่างจากประเทศที่มีการจัดการที่ดี จะขับเคลื่อนการดำเนินงานไปพร้อมกันทั้งระบบ โดยเน้นบูรณาการความร่วมมือใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. จัดการพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคน 2. จัดการพัฒนาและปรับปรุงถนนให้ปลอดภัย และ 3. จัดการระบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างเจ้าภาพรวมในการแก้ไขปัญหา ทำยังไงให้มีการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนในทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางลงไปถึงท้องถิ่นและชุมชน ทำงานเชิงรุกแบบเคาะประตูบ้าน เช่น เดียวกับมาตรการรับมือโควิด-19 เพราะหากเรายังขยับรูปแบบเดิมๆ โดยให้หน่วยงานรัฐทำเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะบูรณาการทำงานร่วมกันเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น จะทำให้งานด้านอุบัติเหตุขยับช้าอย่างที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึง “ชะตากรรมของเหยื่อจากการชนบนถนน” ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะถูกสรุปเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นปลายเหตุ คือ บาดเจ็บ พิการ หรือตาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่พฤิตกรรม ความประมาท และการขาดจิตสำนึกของผู้ขับขี่เท่านั้น แต่กลับไม่โยงไปสู่ต้นตอที่แท้จริง หรือไม่สะท้อนไปถึงการบริหารจัดการที่ดี ของหน่วยงานเจ้าภาพและผู้มีส่วนรับผิดชอบ ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนมุมมองให้ลึกไปถึง รากของปัญหาและสาเหตุ โดยเฉพาะในระดับโครงสร้าง ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และระดับปัจเจก ภายใต้แนวคิดคนผิดพลาดได้เสมอ จึงต้องพัฒนาปรับปรุงถนน เพื่อรองรับความผิดพลาดนั้น เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ 

“อุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ ชนขอบสะพานบริเวณทางโค้ง ร่างตกลงมาเสียชีวิต ตรงสะพานข้าม 5 แยกปากเกร็ด ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา น่าสนใจที่สื่อรายงานว่า จุดนี้เป็นจุดที่มักเกิดอุบัติเหตุรถแหกโค้งคนขับตกลงมาเสียชีวิตเป็นประจำ ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค. และกลางปี 2562 จุดนี้ก็เกิดเหตุในลักษณะเดียวกัน เคสเหล่านี้สะท้อนโจทย์ใหญ่ที่ต้องเอามาเป็นหลักคิด ว่าคนมีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ และคนเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย ดังนั้น นอกจากจัดการปัจจัยด้านพฤติกรรมการขับขี่แล้ว การจัดการความปลอดภัยของเส้นทาง ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวต่อไปว่า ในแง่ความรับผิดชอบร่วมกันนั้น ตัวอย่างเคสรถไฟชนรถบัสที่ฉะเฉิงเทรา หลังเกิดเหตุผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศว่า ต้องแก้ปัญหาและเฝ้าระวังไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก โดยการอุดรูโหว่ทั้งด้านคนในการปรับพฤติกรรมขับขี่ให้ปลอดภัย ปรับปรุงด้านสภาพแวดล้อมและทัศนวิสัยการมองเห็น และทำต้นทางโดยการหาเจ้าภาพมากำกับดูแลระบบที่ปลอดภัย ทว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไรให้ยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านเจ้าภาพและการกำกับดูแล 

ที่ผ่านมา ภาครัฐเชื่อว่าเมื่อมีหนังสือสั่งการลงมาก็เพียงพอแล้ว แต่คำถามคือเมื่อมีหนังสือสั่งการลงมาแล้วแต่ทำไมยังเกิดเหตุซ้ำ ตรงนี้สะท้อนถึงปัญหาการขาดการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างจริงจัง ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้มีเจ้าภาพในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุที่จริงจัง ทั้งระดับจังหวัดลงไปสู่อำเภอส่งต่อไปสู่ท้องถิ่น การแก้จุดเสี่ยง ทำมาตรการสังคม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทิศทางของบ้านเราต้องค่อยๆ ขยับไปให้ลักษณะนี้ แต่จะทำอย่างไรให้กลไกไปได้เร็ว ให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าภาพ เพราะบ้านเราต้องเอาสังคมนำคนถึงจะยอมอยู่ภายใต้กฎหมาย ต่างจากต่างประเทศที่ยึดถือเอากฎหมายนำเป็นหลัก