ไม่พบผลการค้นหา
'ม็อบประมงม็อบแดดเดียว' ยื่น 11 ข้อเรียกร้อง จบได้ภายในคืนเดียว สะท้อนเกมต่อรองผลประโยชน์ทุนใหญ่ประชาธิปัตย์-หลังสรรพสามิตตั้งการ์ดคุมน้ำมันเขียว?

การนำชาวประมงกว่า 10,000 คน ชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นแกนนำ อ้างความเดือดร้อนที่เกิดจากรัฐบาลสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจัดระเบียบประมง ตั้งกฏกติกา และออกกฎหมายการทำประมงขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู) ตามที่ประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป (อียู) กำหนด ภายใต้โจทย์เพื่อความยั่งยืนของการทำประมง 

เนื่องจากที่ผ่านมาประมงไทยติดใบเหลืองไอยูยู ที่กลุ่มประเทศคู่ค้าทำทีท่าจะแบน หรือ งดนำเข้าสินค้าประมงนานมากกว่า 3 ปี จนเมื่อต้นปี 2562 อียูได้ประกาศปลดใบเหลืองให้การประมงของประเทศไทย

ขณะที่ การชุมนุมของชาวประมงเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา มาพร้อมข้อเสนอ 11 ข้อที่บรรยายความเดือดร้อนสารพัด จากการแก้ปัญหาไอยูยู แต่ 3 ใน 11 ข้อที่ชาวประมงเรียกร้อง คือ 

หนึ่ง: การขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณจำนวน 10, 000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 เพื่อนำเรือประมงออกนอกระบบ

สอง: เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS เช่น การชักชวนให้เรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ทดลองติด VMS ฟรี

สาม: ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันบังคับให้ชาวประมง ต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟลีตการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที 

หลังนอนหน้ากระทรวงเกษตรฯ 1 คืน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ตกปากรับคำว่า กระทรวงเกษตรฯ เห็นความเดือดร้อนของชาวประมง จะเร่งดำเนินการในทุกข้อที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งเรื่องของตั้งกองทุน การซื้อเรือคืน และยกเลิกฟลีตการ์ด และ อื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ชาวประมงสลายตัว ขนของกลับบ้าน เรียกได้ว่า ม็อบชาวประมงครั้งนี้ ก็ยังเป็น "ม็อบแดดเดียว" อยู่วันยังค่ำ

คุยง่าย คุยเร็ว เห็นแนวทางทุกเรื่อง แบบไม่ต้องสงสัยทำไมมาวันเดียวคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ จบเกือบทุกเรื่อง ด้วยความสัมพันธ์ของนายสุธรรม ระหงษ์ กรรมการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่ใกล้ชิดกับชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาคร มีการเกื้อหนุนกันมายาวนานกับกลุ่มสมาคมประมงแห่งประเทศไทย จนอาจชวนให้เข้าใจได้ว่าประมงสมุทรสาคร คือนายทุนใหญ่พรรคประชาธิปัตย์อีกกลุ่ม

3 ข้อต่อรองของกลุ่มประมงและภาระของผู้เสียภาษี

เมื่อทุนใหญ่เดือดร้อนมานาน ประชาธิปัตย์เลือกใช้ม็อบมาต่อรองผลประโยชน์กับรัฐบาล ด้วยผลประโยชน์ที่มากกว่าการออกเรือหาปลายากลำบาก หรือการขาดสภาพคล่องอย่างที่กล่าวอ้าง ทั้งที่หลายเรื่องฝ่ายปฏิบัติการก็ดำเนินการมาได้ระดับหนึ่งแล้ว

เช่น การขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว เรื่องนี้ กรมประมงได้ดำเนินการนำเรือประมงออกนอกระบบตั้งแต่ต้นปี 2562 จำนวน 305 ลำ งบประมาณ 469,603,900 บาท แต่สิ่งที่ม็อบประมงขอเพิ่มคือ งบประมาณปี 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเรือ 2 ประเภทคืน คือ เรือที่ไม่มีความประสงค์ทำการประมงต่อ ไม่ประสงค์ที่จะประกอบอาชีพ แต่เรือเหล่านี้มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีโควตาจับปลา และ เรือประมงที่ผิดกฎหมาย แต่ยังต้องการที่จะประกอบอาชีพต่อ ซึ่งเรือผิดกฎหมาย เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำ ที่หลังจากรัฐบาลแก้ปัญหาไอยูยู รัฐบาล เรือประมงนอกน่านน้ำก็หนีจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย รอเพียงสัญญานว่ารัฐบาลไฟเขียวจะซื้อคืนเรือพร้อมกลับเข้าฝั่งที่ไทย

การแก้ปัญหาของกรมประมงในเรื่องเรือที่ไม่ประสงค์ทำอาชีพประมง แต่มีใบอนุญาต กับเรือผิดกฎหมาย สามารถควบรวมใบอนุญาต ขายโควตาจับปลาระหว่างกันได้รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณหมื่นล้านมาซื้อคืนเรือ 2 ประเภท

เรื่องการขอให้เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS เช่น การชักชวนให้เรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ทดลองติด VMS ฟรีเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศชัดๆ โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ว่า หลังปีใหม่เรื่องนี้จะมีข่าวดีให้กับชาวประมง

เด็ดสุดเห็นจะเป็นเรื่องการขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันบังคับให้ชาวประมง ต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟลีตการ์ด (Fleet Card) ชาวประมงระบุว่าหากดำเนินการในเรื่องนี้ชาวประมงคงแย่  แต่ "บัตรฟลีตการ์ด" เหมือนบัตรเดบิต หรือบัตรเงินสดที่ชาวประมงต้องเติมเงินสดเข้าไปในระบบ เพื่อจ่ายเงินผ่านบัตรพลาสติก ซึ่งรัฐบาลจะสามารถตรวจสอบการใช้น้ำมันดิบอย่างถูกต้อง 

เหมือนเป็นการพัฒนาที่ชาวประมงไม่ต้องการ เพราะน้ำมันที่ชาวประมงเติม จะเป็นน้ำมันจากโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับเรือชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (24 ไมล์ทะเล) ของราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า โครงการน้ำมันเขียว ที่เกิดมานานแล้วเป็นโครงการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2544 ให้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงแต่ต้องเติมกลางทะเล ปัจจุบันราคาต่ำกว่าน้ำมันบนบก 6 บาทต่อลิตร 

ล่าสุด กรมสรรพสามิตในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลน้ำมันเขียว ที่รัฐบาลไม่เก็บภาษีตาม มติ ครม. เตรียมจัดระเบียบอีกครั้งหลังจากปี 2558 เคยคิดจะดำเนินการจัดระเบียบการขาย ซื้อน้ำมันเขียว กรมสรรพามิตสงสัยกับยอดน้ำมันเขียวที่ไม่ลดลง แม้รัฐบาลมีการจัดระเบียบเรือประมง มีจำนวนเรือหรือจำนวนวันที่เรือประมงสามารถออกจับปลาได้มันน้อยลง แต่ปริมาณการใช้น้ำมันเขียวไม่ลดลงแต่อย่างใด จึงเตรียมใช้บัตรฟลีตการ์ด เพื่อเป็นระบบตรวจสอบ เป็นการป้องกันการลักลอบการค้าน้ำมันเถื่อนในทะเลให้แก่เรือประมงและป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันเขียวเป็นน้ำมันเถื่อนจนอาจสูญเสียรายได้ของภาครัฐ

นอกจากนี้ สิ่งที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยทุนใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เก็บกินมานานแสนนาน คือการออกสติกเกอร์การเติมน้ำมันให้กับเรือประมง ด้วยการอนุญาตครั้งละ 2,000 บาทต่อลำ ขณะนี้มีเรือในระบบมากกว่า 10,000 ลำ คำนวนเองแล้วกันแต่ละลำมีรายได้กันเท่าไหร่

ดังนั้น ข้อเรียกร้องของชาวประมงหลังรัฐบาลปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย หรือประมงไอยูยูมานานมากกว่า 3 ปีอาจสูญเปล่า เพราะข้อเรียกร้องที่พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับกลุ่มทุนทางการเมือง นำม็อบประมงมาเล่นเกม เรียกร้อง หาผลประโยชน์จากการใช้มวลชนมากดดันรัฐบาล หวังนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปอุดหนุนผลประโยชน์ของพวกพ้อง 

ซ้ำร้ายอาจเปิดช่องให้ต่างชาติ เล่นงานไทย ผ่านองค์การการค้าโลก ( WTO) ที่มองว่าโครงการน้ำมันเขียวเป็นการอุดหนุนชาวประมงแบบผิดกฎ WTO เพราะตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ รัฐบาลต้องสูญเสียเงินในการดูแลชาวประมงเฉพาะโครงการน้ำมันเขียวไปแล้วมากกว่า 60,000 ล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :