ไม่พบผลการค้นหา
Cacerolazo หรือที่แปลว่า 'หม้อสตูว์' รูปแบบการประท้วงที่แพร่จากลาตินอเมริกาสู่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเมียนมาและไทย

ภาพของชาวเมียนมาตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนแก่ ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียนัดเคลื่อนไหว ส่งเสียงตีหม้อเคาะหม้อและสิ่งของต่างๆ ตลอดจนบีบแตรรถอย่างสนั่นหวั่นไหวไปทั่วนครย่างกุ้งยาวนานนับชั่วโมง เพื่อแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับการรัฐประหารยึดอำนาจจากพรรคเอ็นแอลดีเมื่อ 1 ก.พ. เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงจุดยืนและแสดงออกของประชาชนที่ไม่พอใจในการกระทำของรัฐบาล 

"นครย่างกุ้งกำลังเคาะไล่ปีศาจร้าย ประชาชนใจกลางเมืองต่างพากันเคาะหม้อและบีบแตรรถยนต์ ต่อต้านรัฐประหาร" @AungNaingSoeAns หนึ่งในผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวเมียนมาระบุ ขณะที่ผู้สื่อข่าวจาก AJ English ประจำเมียนมาระบุว่า "เสียงดังกระหึ่มเบื้องหลังคือเสียงของประชาชนทุกคนที่เคาะกลองหรือสิ่งของเพื่อส่งเสียงดัง แสดงการไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร เริ่มตั้งแต่สองทุ่มมาจนถึงตอนนี้ ราวกับเป็นเสียงของคนทั้งเมือง"

เมียนมา

'หม้อ-กระทะ' เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีกันอยู่ในแทบทุกบ้านทุกประเทศ ขณะที่การ 'ตีหม้อเคาะภาชนะ' ก็นับเป็นหนึ่งในรูปแบบการประท้วงที่หลายชาติใช้แสดงออกถึงความไม่พอใจของรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งการประท้วงรูปแบบนี้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีที่มาตั้งแต่ฝรั่งเศส ช่วงทศวรรษที่ 1830 จากที่ประชาชนปารีสบางส่วนไม่พอใจนโยบายการปกครองของ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 (Louis Philippe I) เอ็มมานูเอล ฟูเรกซ์ก นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสอธิบายว่า ในชาวกรุงปารีสได้ใช้เสียงของการตีหม้อเคาะภาชนะ เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลหลุยส์-ฟีลิปที่ เนื่องจากหวั่นเกรงการถูกจับจากทางการจึงใช้การส่งเสียงเคาะภาชนะเพื่อแสดงความไม่พอใจในยามค่ำคืนแทน

ผ่านมากว่าศตวรรษ การประท้วงตีหม้อเคาะภาชนะปรากฏอีกครั้งที่ไนจีเรีย เมื่อปี 2504 ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ค่ำคืนแห่งเสียงหม้อ" หรือ The nights of the pots ในช่วงหนึ่งของสงครามเรียกร้องเอกราชของไนจีเรีย ชาวบ้านในหลายเมืองต่างใช้เสียงเคาะหม้อเคาะกระทะเพื่อสนับสนุนเอกราชของประเทศจากฝรั่งเศส

เมียนมา


เคาะหม้อถึงรัฐเพราะไม่มีจะกิน

ปี 2514 การประท้วงแบบตีหม้อเคาะภาชนะ กลายเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการประท้วงอย่างกว้างขวางในเทศชิลี มีชื่อเรียกเป็นภาษาสเปนว่า "Cacerolazo" (กาเซโรลาโซ) ที่แปลว่าหม้อสตูว์ การประท้วงรูปแบบนี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวชิลีซึ่งประสบภาวะการขาดแคลนอาหาร จึงออกมาประท้วงรัฐบาลประธานาธิดีซัลบาดอร์ อาเยนเด

เหตุที่หม้อหรือกะทะถูกนำมาใช้ในการประท้วง เพื่อต้องการทำให้บริบทของเสียงเรียกร้องจากประชาชน รับรู้ถึงบรรดาชนชั้นปกครองในสังคม การตีหม้อประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในชิลีเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2562 จากการที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวชีลีออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจรัฐบาลเซบาสเตียน ปิเญรา ที่ขึ้นราคาค่าครองชีพโดยเฉพาะราคาตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงซานเตียโก 

ที่อาร์เจนตินาการประท้วงด้วยการเคาะหม้อครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อคราวที่ประเทศเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจปี 2544 บรรดาชนชั้นกลางออกมารวมตัวเพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงิน ท่ามกลางเงินเปโซที่อ่อนค่า รัฐบาลจึงออกมาตรการทางการคลังที่ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีธนาคารได้ บริบทเสียงเคาะหม้อภาชนะในอาร์เจนตินาจึงคล้ายกับของชีลีที่ประชาชนออกมาเรียกร้องรัฐบาลในปัญหาปากท้อง

เมียนมา

วัฒนธรรมประท้วงแบบ Cacerolazo กลายเป็นรูปแบบการประท้วงรัฐบาลที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา หลายความเคลื่อนไหวทางการเมืองมักจะมีผู้ประท้วงที่นำหม้อ กระทะ หรือภาชนะหลากรูปแบบออกมาเคาะตี อาทิ การขับไล่ประธานาธิบดีจิลมา รูเซฟ ของบราซิล ซึ่งชาวบราซิลออกตีหม้อเคาะภาชนะกันบริเวณระเบียงบ้านช่วงที่ผู้นำหญิงบราซิลกล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ จากกรณีที่ชาวบราซิลออกมาประท้วงรัฐบาลของเธอซึ่งเผชิญกับข้อหาทุจริตคอรัปชันจากบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ หรือการประท้วงใหญในเอกวาดอร์เมื่อปี 2562 ที่ประชาชนออกมาประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน เนื่องจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นจากการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล

การตีหม้อเคาะภาชนะเพื่อประท้วงครั้งล่าสุดของอเมริกาใต้ เกิดขึ้นในบราซิลจากการที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวตีภาชนะเพื่อประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู จากความล้มเหลวในการมือระบาดโควิด-19

เมียนมา

เสียงเคาะให้กำลังใจ

การประท้วงแบบ Cacerolazo ไม่เพียงการประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่การประท้วงรูปแบบนี้ยังได้รับความนิยมในภูมิภาคอื่นๆ ในบริบทที่ต่างกัน อาทิ ในอินเดีย บริบทการตีหม้อเคาะภาชนะ ไม่เพียงแค่เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง แต่ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของการขอบคุณ ดังเช่นที่ชาวอินเดียหลายเมืองทั่วประเทศ พร้อมใจเคาะภาชนะเพื่อให้กำลังใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ ในการรับมือต่อโควิด-19 ช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่เมื่อ มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่สเปนบางส่วนโดยเฉพาะในแคว้นกาตาลัน ก็ใช้การประท้วงรูปแบบนี้ แสดงความไม่พอใจต่อการมีพระราชดำรัสผ่านสถานีโทรทัศน์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นการแสดงออกไปพร้อมๆ กับความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่รับมือต่อการระบาดของโควิด-19 ไม่ดีพอ แต่ในขณะเดียวกันการเคาะดังกล่าว ก็เพื่อให้กำลังใจทีมแพทย์และบุคลากรแนวหน้าที่ต้องรับมือการระบาดดังกล่าว

เมียนมา

ในประเทศแถบอาเซียน วัฒนธรรมการประท้วงแบบกาเซโรลาโซ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ฟิลิปปินส์ ต่อการประท้วงของรัฐบาลเผด็จการ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ช่วงที่ประเทศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย 'ลู เดอ ลีออน' ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ดิลลิมาน อธิบายวัฒนธรรมการเคาะตีภาชนะประท้วงในฟิลิปปินส์ว่า "เนื่องจากความไม่เห็นด้วยของประชาชนต่อผลการเลือกตั้งของมาร์กอส ที่อาจทำให้ถูกจับกุมเพราะต่อต้านรัฐ ผู้คนจึงแสดงออกผ่านการเคาะเสียงแทน"

ลีออนอธิบายเสริมว่า รัฐบาลมาร์กอสต้องใช้วิธีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดโดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนแทบไม่มีสิทธิมีเสียงหรือรับรู้ข้อมูลอย่างแท้จริง พวกเขาจึงต้องการส่งเสียงถึงรัฐบาล เมื่อ 6 เม.ย. 2521 คืนก่อนหน้าการลงคะแนนเลือกตั้ง ชาวกรุงมะนิลาต่างออกมาตีหม้อเคาะกระทะจนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว โดยบันทึกของรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่า เสียงเคาะในคืนนั้นเป็นหนึ่งในการประท้วงที่ดังที่สุดของยุค

กระทั่งเสียงเคาะของชาวเมียนมาที่ออกมาแสดงถึงจุดยืนไม่ยอมรับการยึดอำนาจของกองทัพ ซึ่งผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต่างระบุว่า เสียงเคาะในคืนวันที่ 1 ก.พ. นั้นไม่ต่างอะไรกับชาวย่างกุ้งที่กำลังเคาะไล่ปีศาจเผด็จการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: Theguardian , aljazeera , eldiario , notimerica , bwint , rappler