ไม่พบผลการค้นหา
7 สมาคมคนพิการ บุก ก.คลัง จี้เปลี่ยนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ให้เป็นแบบ 'ให้ถ้วนหน้า' ให้คนเข้าถึงมากที่สุด ไม่ใช่ตั้งเงื่อนไขคัดคนออกจากการช่วยเหลืออย่างที่ผ่านมา

ที่กระทรวงการคลัง ผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และผู้แทนรวม 7 สมาคมคนพิการ นำโดยนายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมสภาคนพิการฯ และนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายกฎหมายและมนุษยชน ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังและรัฐบาล เพื่อดำเนินการให้คนพิการเข้าถึงการเยียวยาผลกระทบจาก โควิด-19 โดยเฉพาะเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาท 3 เดือนที่ยังไม่ทั่วถึง โดยมีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับเรื่อง

โดยทั้ง 7 สมาคมคนพิการ อ้างถึงผู้พิการที่เข้าเกณฑ์จำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน ไม่สามารถลงทะเบียนเองได้ และกลุ่มครอบครัวผู้พิการที่ยากจนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดไม่ได้ลงทะเบียน เนื่องจาก ข้อจำกัดจากความพิการและครอบครัวไม่มีศักยภาพจะดำเนินการได้

อีกส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าถึงมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท อาทิ กรณีกลุ่มคนพิการผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบโควตา หรือกลุ่มหมอนวดพิการ ที่มีชื่ออยู่ในมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม ที่ปัจจุบันประกอบอาชีพนวดไม่ได้ ไปจนถึงครอบครัวผู้ดูแลคนพิการที่ต้องดูแลเด็กพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่เข้าเกณฑ์การเยียวยา พร้อมเสนอ 5 ข้อประกอบด้วย

1.ให้รัฐบาลปรับปรุงมาตรการเยียวยาระยะ 2 โดยเปลี่ยนจากการคัดครองคนที่ไม่ควรได้รับความช่วยเหลืออออก มาเป็นการใช้วิธีให้ประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม เข้าถึงการช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด และผู้ที่ถือบัตรคนพิการที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ควรจ่ายเงินโดยตรง ไม่ต้องคัดกรอง

2. มาตรการดูแลและเยียวยา ระยะ 3 และ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ รวมถึงแผนงานและโครงการตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ต้องมีการวางแผนใช้งบประมาณให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและโปร่งใสมากที่สุด ให้องค์กรด้านคนพิการมีส่วนร่วมในการออกแบบและติดตามด้วย

3. ให้ลดค่าไฟฟ้า 3 เดือนกับคนพิการทุกครัวเรือน หากใช้ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี

4. ให้สามารถรับเบี้ยความพิการล่วงหน้าได้จำนวน 10 เดือนตามความสมัครใจ 

5. ให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เร่งปฏิบัติตามมติคณะกรรมการคนพิการแห่งชาติ โดยการโอนเงินจากกองทุนคนพิการให้ทุกคนที่มีบัตรคนละ 1,000 บาทโดยเร็ว รวมทั้งต้องพูดคุยเงื่อนไขต่างๆ ที่ยังติดขัดอยู่กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นผู้ดำเนินการโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ ทั้งนายสุชาติและนายวิริยะ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะตัดงบประมาณในส่วนของ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ "บัตรทอง" เพราะมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะสำหรับคนพิการ ซึ่งงบประมาณเท่าที่มีอยู่ก็ถือว่าไม่เพียงพออยู่แล้วและทางสมาคมคนพิการ กำลังขับเคลื่อนให้ขยายสิทธิ์จากเดิมให้ครอบคลุมการรักษาโรคต่างๆ ของคนพิการอีกด้วย

นายวิริยะ ระบุด้วยว่า หากรัฐบาลนี้อยากได้ชื่อเสียงหรือความชื่นชม เสนอให้ หั่นงบประมาณกระทรวงกลาโหม อย่างการตัดงบการซื้อเรือดำน้ำ มาช่วยกระทรวงสาธารณสุข ใช้ในสถานการณ์ โควิด -​19 จะดีกว่า

"ธนกร" แจงคลังเร่งเยียวยา 5 พัน ย้ำครอบคลุมทุกกลุ่มที่เดือดร้อน 

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่เครือข่ายคลังจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทบทวนสิทธิเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพของผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการทบทวนสิทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชนแข่งกับเวลา เนื่องจากต้องการให้เงินเยียวยาถึงมือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่ม

ส่วนกรณีที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เสนอให้ตั้งวอร์รูมทำเรื่องเยียวยาแข่งกับเวลานั้น นายนพดลไม่ต้องห่วง กระทรวงการคลังกำลังทำงานแข่งกับเวลาอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชน นายอุตตม บัญชาการด้วยตัวเอง บูรณาการทุกภาคส่วนมาช่วยกัน นอกจากนั้น ที่ผ่านมาเราใช้หัวใจ ใช้ความตั้งใจในการทำงานเพื่อประชาชนอยู่แล้ว ตนเข้าใจความหวังดีของทุกฝ่ายที่เสนอแนะเข้ามา รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็กำลังเร่งทำงานอยู่เช่นกัน เพียงแต่ไม่เข้าใจนักการเมืองบางคนที่มักจะออกมาพูดเหมือนแนะนำรัฐบาลได้ทุกวัน พูดได้ทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่ยังนึกไม่ออกเลยว่านักการเมืองคนดังกล่าวเคยทำอะไรสำเร็จบ้าง นอกจากการใช้วาทกรรมโจมตีรัฐบาล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง