นายธเนศร์ จรโณทัย ผู้ดูแลศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู (บางกอกน้อย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ศูนย์ฯ มีผู้สูงอายุรายหนึ่งชื่อนางฐิติรัตน์ หยงเรืองศิลป์ อายุ 68 ปี สามีเสียชีวิต ไม่มีลูก เป็นคนไร้บ้านพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ และป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่โรงพยาบาลไม่รับเป็นผู้ป่วยใน โดยแจ้งว่าเตียงเต็มและส่งกลับมาอยู่ที่ศูนย์ฯ ซึ่งไม่มีศักยภาพในการดูแล ต้องให้เพื่อนคนไร้บ้านด้วยกันเป็นผู้ดูแล โดยระยะหลังมีพยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอามที่เข้ามาช่วยล้างแผลให้ทุกวัน
ขณะเดียว กรณีนี้ยังเป็นตัวอย่างปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนถึงช่องโหว่ในการดูแลคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ
สำหรับนางฐิติรัตน์ได้เข้าพักอาศัยที่ศูนย์คนไร้บ้านฯ ตั้งแต่ปี 2560 และมักมีพฤติกรรมซักผ้าในเวลากลางคืนช่วงตี 1-2 จนกระทั่ง 3 เดือนก่อนหกล้มแขนหัก เนื่องจากมองไม่เห็นทาง เพราะเป็นที่มืด แสงไฟไม่สว่างพอ เมื่อพาไปโรงพยาบาลถึงได้ทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย มีแผลขนาดใหญ่ที่หน้าอก เลือดและน้ำเหลืองไหลซึมจึงต้องซักผ้าในเวลากลางคืนเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นมะเร็ง
ทางศูนย์คนไร้บ้านพยายามประสานทุกอย่างเพื่อให้นางฐิติรัตน์ได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและศูนย์คนไร้บ้านไม่มีศักยภาพในการบริบาลผู้ป่วย ช่วงแรกๆ ต้องให้เพื่อนคนไร้บ้านด้วยกันคอยดูแลทำความสะอาดแผลและพาไปโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด โดยไปโรงพยาบาลได้ 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ทางแพทย์บอกว่าไม่ให้กลับมาพักที่ศูนย์แล้ว ต้องให้นอนรักษาที่โรงพยาบาล แต่ปรากฎว่าอยู่โรงพยาบาลได้ไม่ถึงสัปดาห์ นางฐิติรัตน์ก็ถูกส่งกลับโดยฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลออกเงินค่าแท็กซี่ให้นั่งกลับมาเอง
"เคยคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เขาก็บอกว่าให้พาผู้ป่วยไปร้องต่อยูเอ็นเอาเอง ให้ไปหาที่อยู่เอาเอง เขาบอกว่าเขาเป็นแค่หมอ ไม่ใช่คนจัดหาที่อยู่อาศัย วันที่ส่งกลับมาเราก็โทรหาโรงพยาบาล เขาบอกว่าติดต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้แล้ว เขาทำได้แค่นี้ พอถามทาง พม.ก็บอกว่าไม่มีที่รองรับเลย ต้องรอคิวกว่า 190 คน เราก็เลยต้องประสานไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอามขอให้ส่งพยาบาลมาช่วยล้างแผลให้วันละ 1 ครั้ง" นายธเนศร์ กล่าว
นายธเนศร์ กล่าวอีกว่า กรณีลักษณะนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการดูแลคนไร้บ้าน เพราะถ้าจะพักอาศัยในสถานที่ของ พม. ก็มีเงื่อนไขว่าต้องอายุไม่เกิน 60 ปี ดังนั้นคนที่อายุเกินก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน บางส่วนก็มาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐเองบางครั้งไม่รู้จะส่งไปที่ไหนก็ส่งมาที่นี่ ยิ่งผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยยิ่งกลายเป็นสุญญากาศไม่รู้จะถูกวางไว้จุดไหน เพราะโรงพยาบาลก็ไม่ให้นอนรักษา ทางพม.ก็ไม่มีสถานที่รองรับ ขณะที่ศูนย์คนไร้บ้านฯก็เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีพื้นที่รองรับจำกัดและไม่มีผู้ชำนาญด้านการรักษาพยาบาล
"ข้อเสนอคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พม.ต้องคุยกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างน้อยต้องมีที่รองรับคนกลุ่มนี้ อย่างที่ศูนย์นี้ก็มีเกือบ 20 คนแล้วที่เป็นแบบนี้ โรงพยาบาลชื่อดังบางแห่งยังเคยส่งมาให้เราเลย ผู้ป่วยต้องให้อาหารทางสายยางก็เอามาให้เรา เราก็ทำไม่เป็น กลัวผู้ป่วยติดเชื้อ แล้วกรณีแบบนี้ไม่ใช่มีแค่ 1-2 คน ยังมีที่โรงพยาบาลเอาไปไว้ตรงโน้นตรงนี้แล้วเรายังไม่รู้อีกล่ะ ดังนั้นอยากให้มีการพูดคุยกันของ สปสช.และ พม.อย่างจริงจังว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร" นายธเนศร์ กล่าว