วันที่ 3 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เผยว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะถามกระทู้สดด้วยวาจา ในหัวข้อ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้คนละ 1 ไร่ แลกกับเงินลงทุน 40 ล้านบาท
โดยผู้ตั้งคำถามจะมี 2 คน คือ ตนและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งจะกล่าวด้านผลกระทบและมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ตนจะกล่าวถึงมูลเหตุจูงใจความจำเป็นผลกระทบ และมาตรการความมั่นคงทางสังคม โดยตนจะเป็นผู้อภิปรายก่อน
อีกทั้ง เวลาประมาณ 13.00 น. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุม ในหัวข้อเหตุการณ์ยิงที่ จ.หนองบัวลำภู และปัญหาน้ำท่วมทั่วประเทศ ทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเอาเรื่อง มติ .ครมไปเป็นญัตติอีก หากการชี้แจงของรัฐมนตรีไม่ชัดเจน พร้อมคาดว่าผู้มาตอบชี้แจงจะเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลจะเสนอญัตติด่วนประกบเช่นกัน
"การถาม 3 เรื่องในครั้งเดียวกันก็เป็นข้อบังคับที่สามารถทำได้ หลังอภิปรายก็จะลงมติทีละเรื่อง เชื่อว่าช่วง 13.00 น. เป็นต้นไป คาดว่าจะใช้เวลายาวนานพอสมควร และญัตติปากเปล่าอาจจะไม่จบในสัปดาห์นี้ ต้องไปต่อสัปดาห์หน้า"
สุทิน ยังมองการลงมติในวาระ 2-3 ของร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ถูกคว่ำด้วยคะแนนเฉียดฉิว เป็นสัญญาณว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นใน 2 ซีก สะท้อนว่าฝ่ายรัฐบาลอาจจะขาดเอกภาพ ทำให้เสียงออกมาในลักษณะนี้ สำหรับฝ่ายค้านไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไป แต่คิดว่าต้องทำหน้าที่ให้หนักขึ้นในช่วงที่เหลือ
สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในสัปดาห์หน้า สุทิน ยังยืนยันจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ว่าต้องดึงให้ควบคุม จำกัดทางการแพทย์ ถ้าเนื้อเช่นนั้นจะผ่านให้ แต่ถ้าเปิดช่องให้สันทนาการจะต้องระวัง ถ้าควบคุมไม่ได้ ก็ควรกลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม แม้จะเป็นยาเสพติดก็สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้อยู่แล้ว ต่างประเทศเองก็มีมาตรการเช่นนี้ สามารถทำล้อกันไปได้ ไม่จำเป็นต้องไปปลดล็อก
"จะผ่านหรือไม่อยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ มีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านเช่นกัน เพราะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่าต้องใช้ทางการแพทย์เหมือนกัน ถือว่าห้าสิบ-ห้าสิบ"
ทั้งนี้ สุทิน ยังเผยว่า วาระแรกในการประชุมวันนี้ จะพิจารณาญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้ง ซึ่งได้ค้างไว้ที่ขั้นตอนการลงมติตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว แต่ส่วนตัวมองว่ายังมีปัญหา เนื่องจากพ.ร.บ.ประชามติ กำหนดให้ใช้หน่วยเลือกตั้งเดิมในการทำประชามติ แต่ปัจจุบันได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ซึ่งต่างจากปี 2562 จนอาจเป็นเหตุให้ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ