ไม่พบผลการค้นหา
30 พ.ย.2564 ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย ไอลอว์จัดงาน 'รวมพลังประชาชน-รื้อมรดก คสช.' ก่อนที่รัฐสภาจะมีการพิจารณา 'ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …' หรือที่เรียกว่ากฎหมายปลดอาวุธ คสช.

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการรวบรวมรายชื่อประชาชน 13,409 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาตั้งแต่ 24 มิ.ย.2562 โดยมีเนื้อหายกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช./หัวหน้า คสช.จำนวน 35 ฉบับที่สำคัญ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 5/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารเอาคนไปกักขังเป็นเวลาเจ็ดวัน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ที่ให้ควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่ให้การไม่มารายงานตัวกับ คสช. เป็นความผิด ฯลฯ 

สภา4.jpg


ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายนี้กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) นับเป็นหมุดหมายสำคัญหลังจากประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปนานแล้ว สภาผู้แทนฯ เพิ่งจะได้บรรจุวาระพิจารณาในวันพรุ่งนี้ และย้ำว่า ส.ส.จำเป็นที่จะต้องผ่านวาระ 1 ไปก่อนและหากมคำสั่งใดที่ยกเลิกแล้วหรือต้องตัดออกให้พิจารณากันในชั้นกรรมาธิการ 

"พรุ่งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญ นี่เป็นข้อเสนอขั้นต่ำมากที่ให้เอามรดกรัฐประหารมาทบทวน ถ้าคุณไม่รับ เลือกตั้งครั้งหน้าคุณไม่มีอนาคตทางการเมืองแล้ว" ยิ่งชีพกล่าว 

ช่วงค่ำรองประธานวิปรัฐบาล ชินวรณ์ บุณยเกียรติ และประธานวิปฝ่ายค้าน สุทิน คลังแสง ได้เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากภาคประชาชน โดยสุทินระบุว่า ไม่แน่ใจว่าวันพรุ่งนี้วาระการพิจารณาจะมาถึงร่างกฎหมายนี้หรือไม่ เนื่องจากบรรจุไว้ลำดับท้ายๆ แต่หากพิจารณาไปไม่ถึงก็จะถูกหยิบยกมาพิจารณากันในสัปดาห์หน้าแน่นอน และยืนยันว่าฝ่ายค้านทั้งหมดเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ ปัญหาจึงอยู่ที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 

ในส่วนวงเสวนามีผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.มาแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายมิติ 

สภา 8.jpg

คำสั่ง คสช.มี 2 ประเภท ต้องจัดการด่วน

จาตุรนต์ ฉายแสง เล่าถึงประสบการณ์ถูกเรียกรายงานตัวและต้องขึ้นศาลทหารโดยคำสั่ง คสช. ถูกคุมขังอยู่ 10 วัน มีการปรับทัศนคติ ออกนอกประเทศไม่ได้ 2 ครั้งเพราะวิจารณ์รัฐธรรมนูญ เมื่อยังเดินหน้าวิจารณ์ต่อก็ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นเวลา 3 ปีโดยเป็นการใช้อำนาจนายกฯ จากนั้นจึงยื่นฟ้องจนชนะในศาลปกครองและได้หนังสือเดินทางกลับคืนมา

"ที่เขาออกคำสั่ง คสช.ทำกับใครไปทั่วประเทศ มันฟ้องไม่ได้ เพราะศาลถือว่า คสช.มีอำนาจอธิปไตยเหนืออำนาจทั้งปวงรวมทั้งศาล" จาตุรนต์กล่าว

จาตุรนต์ กล่าวว่า การใช้คำสั่ง คสช. มีผลใน 2 ลักษณะ ประเภทหนึ่งคือ จำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำลายกระบวนการยุติธรรม ขัดต่อสิทธิมนุษยชน ประเภทที่สอง มีผลต่อระบบโครงสร้างในการบริหารประเทศ นโยบายในการแก้ปัญหาประเทศ ทั้งสองอย่างมีผลคนละด้าน การจัดการกับมันจึงต้องต่างกัน ประเภทที่กระทบโครงสร้างไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อม ประมูลรถไฟฟ้า รวมศูนย์การศึกษา ด้านประมง ฯลฯ คำสั่ง คสช.ที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่ยังผลให้เท่ากับแก้กฎหมายที่มีอยู่เดิมไปแล้ว ถ้าจะยกเลิกคำสั่งนั้นไปเฉยๆ ยังไม่เพียงพอ แต่ยังต้องการการเข้าไปดูแลกฎหมายนั้นๆ ด้วย ส่วนเรื่องสิทธิมนุษชนต้องยกเลิกไปโดยเร็ว 

ส.ส.เชียงใหม่ แสดงความเห็นค้านรัฐธรรมนูญ 60 ได้ข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร 

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์ที่เจอในปี 2559 ซึ่งมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกล่าวว่า ในตอนนั้น กกต.ส่งจดหมายไปตามบ้านเพื่อชี้แจงข้อดีของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้พูดถึงมุมอื่นโดยเฉพาะเรื่องของ ส.ว.ที่มีที่มาไม่ปกติ และประชาชนอาจจะสับสนในคำถามพ่วง ตนจึงทำแบบ กกต.โดยชี้แจงผ่านจดหมายให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองได้เข้าใจด้วยว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชาชนจะเสียสิทธิอะไรบ้างใน 3-4 ประเด็น โดยไม่ได้ลงชื่อ หลังจากส่งไม่ถึงอาทิตย์ก็เกิดข่าวใหญ่ว่าจับจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ แล้วมีการไล่จับกุมตนกับผู้เกี่ยวข้องรวม 15 คน โดยใช้ทหารตำรวจ 30 กว่าคนค้นบ้านราวกับเป็นอาชญากรสงคราม มีการควบคุมตัว 7 วันในพื้นที่ลับ และบังคับให้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสรุปข้อดีออกมา แต่ตนไม่ได้ทำตาม จากนั้นมีการสอบสวนในลักษณะทั้งขู่ทั้งปลอบ ก่อนนำตัวส่งให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาอั้งยี่ซ่องโจร 

"พรุ่งนี้ ส.ส.ทุกท่านไม่ว่าฝ่ายค้าน รัฐบาล ขอให้ท่านมาร่วมรับหลักการนี้ก่อน เราแค่รื้อมรดก คสช.แค่เรื่องนิดๆ ไม่ได้บอกว่าจะกำหนดบทลงโทษประยุทธ์ พรุ่งนี้อยากให้ประชาชนจับตาดูว่าสมาชิกสภาท่านใดจะลงมติอย่างไร" ทัศนีย์กล่าว 

สภา1.jpg

มรดก คสช. ทวงคืนผืนป่า จนวันนี้ยังมีชาวบ้านติดคุก 

อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า เกษตรกร ชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักเช่นกันเมื่อมีรัฐประหาร ตอนรัฐรประหาร 2535 ของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ปรากฏว่า 2,500 ชุมชนในภาคอีสานเป็นเป้าหมายการอพยพ เพราะจะเอาพื้นที่มาปลูกป่าตามนโยบาย รสช.ที่ต้องการมีพื้นที่ป่า 40% พอมายุค คสช.ก็มีนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' เป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% เช่นกัน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจ 15% ตั้งเป้าปี 2557 จำนวน 6 แสนไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน 4 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติ 2 แสนไร่ โดยใช้คำสั่ง คสช. ให้ กอ.รมน.เข้ามามีบทบาทหลัก มีการร่วมมือกับกรมป่าไม้เริ่มตัดฟันสวนยางพาราของเกษตรกรรายย่อยใน 62 จังหวัดที่มีแผนทวงคืนผืนป่า ในอีสานชาวบ้านกระทบหนัก เช่น บ้านจัดระเบียบ จ.สกลนคร ชาวบ้านถูกยึดที่และจับกุมดำเนินคดี 31 ราย 34 คดี จนถึงวันนี้บางคนก็ยังอยู่ในเรือนจำ รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ประชาชนอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ฯลฯ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งและยกเลิกนโยบายนี้กลางปี 2562 แต่ก็ยังมีการนำเอาเนื้อหาคำสั่ง คสช.นี้ไปใส่ในร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติด้วย 

"บางทีเราลืมไปแล้ว เราล่ารายชื่อไปนานมาก จู่ๆ วันหนึ่งเขาจะเอาเข้าสภา แต่ไม่ว่ายังไง ผลกระทบ ความเดือดร้อนของชาวบ้านยังอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น พรุ่งนี้ถ้าเป็นไปได้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ใกล้ชิดเกษตรกรในพื้นที่ อาจมี ส.ส.หลายท่าน หลายพรรคการเมืองเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และพร้อมรับร่างนี้เพื่อยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. เราอยากฝากความหวังนี้ไว้ด้วย น่าจะมีส.ส.ที่กล้าหาญในฐานะที่เราได้เลือกเข้าไปแล้ว จะได้ทำหน้าที่ของนักการเมืองที่ดี" อรนุชกล่าว

สภา2.jpg

ยกเว้นผังเมือง-สั่งใช้ที่ดินผิดจาก กม.เดิมกำหนด

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คสช.รวบอำนาจในการจัดการทรัพยกร ตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจขีดวงชายแดน 10 พื้นที่เป้าหมาย แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอดจึงกลับมาสู่ EEC ภาคตะวันออกโดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.เช่นกัน หมุดหมายแรกคือเอาที่ดินมาแจกกลุ่มทุน ใช้คำสั่ง คสช.จัดหาที่ดินทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งเขตป่าสงวน ป่าไม้ถาวร ที่ดินเขตหวงห้ามตาม พ.ร.ฎ. แต่ประชาชนกลับอยู่ในพื้นที่ป่าไม่ได้ นอกจากนี้ ที่ดิน สปก.ก็ยังไปแก้ไขให้ทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมได้ และคำสั่งคสช.ยังอยู่เหนือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดด้วย เนื่องจากประชาชนเคยร้องผู้ตรวจการแผ่นดินว่านำที่ดิน สปก.มาใช้วัตถุประสงค์อื่นนอกจากเกษตรกรรมไม่ได้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในปี 2560 ว่าต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนด หลังจากนั้นไม่กี่วัน คสช.มีคำสั่งให้เอาที่ สปก.ไปใช้ทำอุตสหากรรมได้ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งยกเว้นผังเมืองทั้งประเทศ เพื่อเอื้อต่อการทำโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมขยะ คำสั่งเหล่านี้ส่งผลให้โรงไฟฟ้าจากขยะมีมากถึง 925 โรงใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก ไม่รวมที่ไม่มีใบอนุญาต ทั้งที่ผังเมืองเดิมหลายพื้นที่ไม่อนุญาตให้มีกิจการลักษณะนี้ แต่เพราะคำสั่ง คสช.ยกเว้นให้มีได้ 

"เขาใช้เวลา 1 ปี 11 เดือนในการเอาพื้นที่เกษตรมาทำเป็นอีอีซี พอประชาชนใช้อำนาจทางศาลเพื่อคัดค้าน ฟ้องศาลใช้เวลา 9 เดือนกว่าศาลจะพิจารณารับฟ้อง ปัจจุบันผ่านมา 1 ปี 4 เดือน ยังไม่เห็นคำโต้แย้งจากหน่วยงานราชการ ประชาชนที่พยายามใช้อำนาจปกติมันนาน และบางครั้งมันไม่สามารถแก้ไขเยียวยาแก้ไขมปัญหาได้ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อและวิถีชีวิต อาชีพของประชาชน สิ่งที่เราขอไม่ได้ยากเลย เราขอกลับไปสู่สภาพปกติ เราไม่ได้ขออะไรเหนือกว่าปกติ ผู้แทนที่ได้รับเลือกไปมองเห็นเราไหม และเห็นไหมว่าสภาวะปัจจุบันมันไม่ใช่สภาวะปกติ" สุภาภรณ์กล่าว