ภายหลังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ประกาศให้ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม ร้อยละ 20 ต่อปี และยังเป็นผู้ชนะประมูลสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ได้สิทธิบริหารต่ออีกเป็นเวลา 10 ปี โดยเสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท. ได้รับอยู่เดิมปีละ 2,000 ล้านบาท ท่าทีของสื่อต่างชาติหลายสำนักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมองว่า สนามบินสุวรรณภูมิกำลังถูกครอบครองด้วยกลุ่มทุนผูกขาด
สำนักข่าวนิกเคอิของญี่ปุ่นรายงานว่า ประเทศไทยเผชิญหน้ากับความล้มเหลวในการกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางโอกาสที่เพิ่มสูงขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลประมูลที่ออกมานั้น ทำให้ไทยต้องจ่ายค่าเสียโอกาสเพิ่มถึง 10 ปี จากการมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีเพียงหนึ่งราย ซึ่งก็คือ 'คิงเพาเวอร์' พร้อมวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมินั้นสมควรถูกเรียกว่า 'การผูกขาดทางการค้า'
“ดินแดนแห่งรอยยิ้มพลาดโอกาสในรอบ 10 ปี กับการกระตุ้นการแข่งขันในตลาดที่กำลังโต” สำนักข่าวนิกเคอิ กล่าว
เพชรยอดมงกุฎและรัฐบาล
รายงานข่าวของนิกเคอิวิเคราะห์ลงไปที่แผนการจับมือกับบริษัทต่างประเทศของผู้ยื่นซองประมูลดิวตี้ฟรี อีก 2 ราย คือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัท การบินกรุงเทพ มีแผนจับมือร่วมทุนกับบริษัทลอตเต้ ดิวตี้ ฟรี ของเกาหลีใต้ ขณะที่บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด มีแผนร่วมลงทุนกับบริษัท เวิร์ล ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป ซึ่งตั้งอยู่ในอิตาลี
ดูเหมือนว่าการจับมือร่วมทุนกับต่างประเทศและการมีผู้ประกอบการมากกว่าหนึ่งรายในการบริหารจัดการดิวตี้ฟรีจะเป็นทางเลือกที่สำนักข่าวต่างประเทศมองว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักข่าวเอเชียร์ไทมส์ของฮ่องกง ชี้ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่จะเป็นการสะท้อนความบริสุทธิ์ในการดำเนินการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อธุรกิจที่เป็นด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนต่อปี
อ้างอิง; Nikkei, Asia Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :