คลิปวิดีโอของเมียว วิน และ ซอว์ นายง์ อดีตทหารกองทัพเมียนมาเปิดเผยว่า พวกเขาได้รับคำสั่งจากกองทัพเมียนมาให้กระทำการสังหารหมู่และข่มขืนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2560 โดยทางกองทัพได้สั่งให้สังหารทุกคนที่เป็นชาวโรฮิงญา
"พวกเราได้ทำลายหมู่บ้านมุสลิมที่ใกล้กับ หมู่บ้านตวงบาซาร์ โดยเป็นการปฏิบัติการลงเมื่อในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมีคำสั่งให้ยิงทุกสิ่งที่เห็นและได้ยิน รวมถึงยังได้รับคำสั่งให้มีการฝังศพผู้ที่ถูกสังหาร 30 ศพต่อหนึ่งหลุม" เมียว วินตุนกล่าวผ่านคลิปวิดีโอ
ทั้งนี้ไม่แน่ชัดว่ามีจำนวนทหารกองทัพเมียนมาจำนวนเท่าใดในการร่วมสังหารและกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในช่วงปี 2559 - 2560 ขณะที่เมื่อปี 2561 นายทหาร 7 รายของกองทัพเมียนมาถูกจำคุก หลังจากที่รอยเตอร์สเปิดเผยการสังหารชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน ทางตะวันตกของรัฐยะไข่
นิวยอร์กไทม์รายงานว่า นายทหาร 2 นายนี้ได้หนีออกจากกองทัพเมียนมามาร่วมกับกองทัพของทหารอารกัน และเมื่อเดือนที่แล้วทั้งคู่ได้เดินทางออกจากเมียนมามายังกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก
ปัจจุบันศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังสอบสวนคดีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาของกองทัพเมียนมา หลังจากเมื่อเดือนพ.ย. 2562 แกมเบียได้ยื่นฟ้องร้องเมียนมาต่อ ICJ กล่าวหาว่าเมียนมาสังหารหมู่ ข่มขืน และทำลายชุมชนต่างๆ ในรัฐยะไข่ละเมิดอนุสัญญาปี 1948 (พ.ศ.2491) ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยแกมเบียเรียกร้องให้มีการลงโทษคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย รวมถึงเรียกร้องให้มีการยุติการโจมตีชาวโรฮิงญาโดยทันที ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาได้ออกมาปฏิเสธการมีส่วนรู้เห็นในการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้น
แมทธิว สมิท ผู้อำนวยการองค์กร Fortify Rights องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า นี่จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสำหรับชาวโรฮิงญาและประชาชนชาวเมียนมาที่กำลังต่อสู้กับความยุติธรรม
เมื่อปี 2559 มีการรายงานความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกองทัพเมียนมาในพื้นที่ทางทางตะวันตกของรัฐยะไข่ โดยมีเป้าหมายเจาะจงไปที่ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา โดยกองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา มีการสังหารหมู่ ข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ รวมถึงการเผาทำลายหมู่บ้านอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีการเผาทำลายมัสยิด ร้านค้าและคัมภีร์อัลกุรอาน
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังได้ออกมาเปิดเผยเองว่าโพสต์ที่โจมตีชาวโรฮิงญามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกองทัพเมียนมา และมีรายงานว่ามีชาวโรงอิงญากว่า 740,000 คนที่อพยพไปยังบังกลาเทศเพื่อหนีการสังหารโดยกองทัพเมียนมา
รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในเดือนแรกของการกวาดล้างของกองทัพเมียนมามีชาวโรฮิงญาถูกสังหารอย่างน้อย 6,700 ราย ซึ่งรวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถูกสังหาร 730 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง