กำหนดข้อควร - ข้อต้องห้าม ส.ส. ในการปฏิบัติภารกิจการเมือง ภายหลังเข้าสู่ช่วง 180 วัน นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ในกรณีที่รัฐบาลไม่ยุบสภา - อยู่ครบเทอม
เงื่อนไข กฎเหล็ก 180 วันดังกล่าว ขยายความมาจาก 2 มาตราสำคัญในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ประกอบด้วย
มาตรา 64(1) ระบุว่า ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้คํานวณ ค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ 180 วันก่อนวันที่คณะกรรมการประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึง วันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ แนวทางที่กำหนดกับ มาตรา 68 (1) เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คณะกรรมการ กําหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว
ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทําได้ ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
ดังนั้น กกต.จึงออกระเบียบ - ประกาศ 2 ฉบับ ออกมาบังคับใช้กับนักเลือกตั้งอาชีพ
- สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งาน บวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินต่างๆ เว้นแต่เจ้าภาพเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล ปัจจัย ทั้งนี้ ผู้สมัคร – พรรคการเมือง ต้องไม่มอบเงิน หรือ ทรัพย์สินของตนเอง
- สามารถจัดงานศพ งานบวช งานแต่งงานได้ แต่พึงหลีกเลี่ยงจัดงานที่เป็นงานใหญ่ - คนจำนวนมาก เพราะอาจเป็นเหตุถูกร้องเรื่องการจัดเลี้ยง หรือ มหรสพได้
- หัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค ช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามเกณฑ์คนมาช่วยหาเสียง โดยได้รับค่าตอบแทน หรือประโยชน์ตอบแทน
- สามารถเข้าไปหาเสียงในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อน
- ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด
- สามารถปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงได้ โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน สถานที่ ตามที่เคยทำในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
- ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 อย่างเคร่งครัด
แนวทางปฏิบัติ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่าง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบช้าราชการการเมือง
- สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในตำแหน่ง เช่น ออกรายการวิทยุ เป็นประธานเปิดงานพิธีต่างๆ ลงตรวจงานในพื้นที่ พบประชาชนในพื้นที่ หรือ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามมิให้กระทำใดๆ ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่นั้นหาเสียงให้ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง
- ในเวลานอกราชการ สามารถหาเสียงให้ตนเอง ผู้สมัครอื่น หรือ พรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยชอบ หรือกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
- สามารถไปร่วมประเพณีต่างๆ ได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ของตนเอง ในกรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล หรือระบุชื่อไว้ – เป็นประธานในงานกฐิน โดยไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเองสามารถทำได้ แต่เจ้าภาพห้ามประกาศชื่อ หรือ ประกาศชื่อพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยหาเสียงไม่ได้
สำหรับหน่วยงานรัฐ อนุญาตให้
- ดำเนินหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น ประชุมสัมมนา ประกวดแข่งขัน งานเทศกาลประเพณี ให้พนักงานในสังกัดสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.
- ข้าราชการและลูกจ้างทุกระดับ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง 3. ในช่วงตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพนักงานให้ทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบการเลือกตั้ง
- ข้าราชการส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น สนับสนุนสถานที่ปิดป้ายประกาศหาเสียง
- ทำเอกสารของรัฐมนตรี ปฏิทินที่มีรูปรัฐมนตรีต้องทำในนามหน่วยงาน ระวังไม่ให้เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง
- ให้ราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นให้การสนับสนุนสถานที่ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดการเลือกตั้ง รวมถึงสนับสนุนเป็นสถานที่ติดประกาศ และแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง
- ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร ด้านความปลอดภัยเพื่อการคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้รับความปลอดภัย ซึ่งหลักสำคัญคือข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้จุดบกพร่องของการกำหนดกฎเหล็ก กกต.ว่า “เท่าที่ผมได้ตรวจสอบมีข้อสังเกตที่อยากให้สังคมเห็น”
1.การขยายเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการหาเสียงออกไปถึง 180 วันก่อนวันครบอายุสภา เป็นระยะเวลานานเกินไป
2.ข้อห้ามหลายกรณีในระเบียบดังกล่าวมีลักษณะฝ่าฝืนธรรมชาติ และขัดต่อการทําหน้าที่ ส.ส. เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน ในทางตรงกันข้ามข้อห้ามนี้มิได้ถูกนํามาบังคับใช้กรณีนายกฯ หรือรัฐมนตรี ลงไปปฏิบัติหน้าที่และมีการมอบสิ่งของหรือเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัย โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของฝ่ายบริหาร ทําให้เกิดความได้เปรียบในการหาเสียง
3.การจัดทําป้ายหาเสียงในช่วงเวลานี้ ถูกควบคุมทั้งเรื่องขนาดของป้าย จํานวนและสถานที่ติดตั้ง ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศเขตการเลือกตั้งใหม่ 4.ในเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง”
ระเบียบ - แนวทางปฏิบัติดังกล่าว ดูเผินๆ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม แต่ทว่านักการเมืองที่มีตำแหน่งแห่งหนในฝ่ายบริหาร เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ หรือ รัฐมนตรี ตรวจงานในพื้นที่ พบประชาชนในพื้นที่ หรือ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน
แต่ห้ามมิให้กระทำใดๆ ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่นั้นหาเสียงให้ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการ “แจกของ” เหมือนกับที่ห้าม ส.ส.ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
“ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด”
นอกจากนี้ ฝ่ายรัฐบาลยังสามารถที่ยังมีการกระทำที่ผิดระเบียบ เช่น เรื่องการติดป้ายหาเสียงไม่ได้เป็นไปตามขนาด – จำนวนที่กำหนดไว้ หรือ อื่นๆ ยังสามารถใช้ไม้ตาย “ยุบสภา” เพื่อล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทำผิด
เพราะ มาตรามาตรา 64(2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ระบุไว้ว่า
ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้คํานวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตําแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง
เท่ากับว่ากิจกรรมทางการเมืองที่นับรวมเป็นค่าใช้จ่าย หลังเข้าสู่โซนอันตราย 180 วัน
จู่ๆ ถ้ารัฐบาลยุบสภา การคิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะถูกนับ 1 ใหม่ ตั้งแต่วันยุบสภา
เช่นเดียวกับ มาตรา 68(2) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้กระทําได้ตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตําแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณีจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
การฝ่าฝืนระเบียบต่างๆ ก็จะถูกนับ 1 ใหม่ หากมีการยุบสภา
คนที่มีอำนาจยุบสภา คือ นายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาล ที่กุมความได้เปรียบจากเกมนี้ ความเท่าเทียมกันอาจถูกมองว่าน่า “กังขา” หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง