ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า มีการยืนยันกรณีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่กำลังเป็นที่กังวลไปทั่วโลกแล้;ว่า 80 กรณี โดยเป็นการพบผู้ป่วยใน 12 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกระบุว่า อาจมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากอาจจะยังไม่มีการแจ้งเข้ามายังหน่วยงานกลาง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุอีกว่า มีกรณีต้องสงสัยของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงอีกประมาณ 50 กรณี แต่องค์การอนามัยโลกไม่ได้เปิดเผยชื่อประเทศเหล่านั้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ กรณียืนยันการติดเชื้อฝีดาษลิงเกิดขึ้นหลายกรณีในประเทศทั่วยุโรป เช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย

จากรายงานระบุว่า เชื้อฝีดาษลิงเกิดขึ้นได้ทั่วไปในพื้นที่แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ทั้งนี้ ฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่พบการติดเชื้อได้ยาก และผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายจากอาการได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทั้งนี้ เชื้อไวรัสจะแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ยาก และความเสี่ยงในการเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างนั้นมีอัตราที่ต่ำมาก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรัยโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี วัคซีนของฝีดาษหรือไข้ทรพิษสามารถนำมาฉีดเพื่อใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพถึง 85% เนื่องจากเชื้อไวรัสทั้งสองมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (20 พ.ค.) องค์การอนามัยโลกระบุว่าการระบาดในครั้งนี้ “เป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่เฉพาะถิ่น”

องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุอีกว่า ตนกำลัง "ทำงานร่วมกับประเทศที่ได้รับผลกระทบและประเทศอื่นๆ เพื่อขยายการเฝ้าระวังโรคในการค้นหาและให้ความช่วยเหลือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ" อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าการระบาดในครั้งนี้มีต้นเหตุมาจากอะไร โดยรายงานระบุว่า เชื้อไวรัสอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปบ้างเล็กน้อย แม้จะยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามันได้กลายพันธุ์เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ก็ตาม

มีคำอธิบายว่าการระบาดในครั้งนี้อาจเกิดขึ้นจากการที่เชื้อไวรัสได้ไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา ทั้งนี้ ฝีดาษลิงอาจแพร่ระบาดได้ง่ายในอดีต แต่เนื่องจากการที่มนุษย์ได้วัคซีนฝีดาษทั่วไปกันอย่างครอบคลุมแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีการพบมนุษย์ติดเชื้อฝีดาษลิงเป็ยวงกว้าง

องค์การอนามัยโลกกังวลว่า ยุโรปได้เข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนรวมตัวกันหนาแน่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงหนึ่งกรณีที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่แถบแอฟริกาซึ่งมีการระบาดเป็นปกติมาก่อน 


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/health-61532083