การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 4 เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ ในช่วงบ่ายพรรคฝ่ายค้านอย่างคงชี้ให้เห็นถึงแผนการใช้จ่ายเงินกู้ที่ส่อว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ โดยนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 , พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรการของรัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง คนจำนวนมากต้องตกงาน กำลังซื้อหดหาย หลายฝ่ายคาดว่าปัญหาเศรษฐกิจอาจทอดยาวไปถึงปลายปี 2564 กว่าที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีอยู่ทั้งสิ้นมากกว่า 3 ล้านราย แต่ทำให้เกิดการจ้างงานในระบบ สูงถึง 13 ล้านอัตรา คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 85 ของการจ้างงานที่มีอยู่ทั้งประเทศ และมีบทบาทต่อขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ เปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจประเทศ
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 นั้นก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจประเทศ โดยให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยกู้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ 5 แสนล้านบาทเพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่เงื่อนไขในการกู้ครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จำนวนนี้ได้ ทั้งเงื่อนไขที่ต้องเป็นลูกค้ารายเดิมกับสถาบันการเงินและจะต้องไม่เป็นเอ็นพีแอล รวมไปถึงต้องเป็นวิสาหกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้อาจไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อาจเป็นผู้ประกอบการรายเดิมและเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสถาบันการเงินที่ได้ประโยชน์ไป
นายไชยา กล่าวว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบธนาคารได้ การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผลให้เกิดการตัดสิทธิ์เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ให้ยื่นกู้ ซึ่งเป็นช่องว่างของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีช่องว่างของการไม่กำหนดคำนิยามของเอสเอ็มอีให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้จะดูที่วงเงินกู้เป็นหลัก ไม่ดูกิจการหรือการจ้างงานเพื่อพิจารณาว่ารายใดเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาเงินกู้ผิดเพี้ยนไปแล้วทำให้เงินกู้จำนวนนี้ไม่กระจายไปถึงคนที่เดือดร้อนจริง ไม่ได้มีส่วนในการเสริมสภาพคล่อง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย
ในส่วนของการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น นอกจากการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉบับนี้ รัฐบาลยังสามารถใช้กลไกทางการบริหารเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ทั้งมาตรการทางภาษี หรือการผ่อนปรนเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ รวมไปถึงการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2563 ที่ค้างท่ออยู่อีกกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินเข้าระบบ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อ