ไม่พบผลการค้นหา
มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ คาเฟ่-ร้านอาหาร ต้องปิดตัวชั่วคราว กระทบยอดการซื้อขายผลิตภัณฑ์กาแฟ แม้หลายประเทศจะเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายแต่นักวิเคราะห์มองว่ายังต้องใช้เวลาก่อนการบริโภคจะกลับมา

กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (ยูเอสดีเอ) ประเมินสถานการณ์การบริโภคกาแฟทั่วโลกว่าจะตกต่ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554 แม้ตัวเลขการซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าจะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยปัจจัยสำคัญมาจากสัดส่วนอุปสงค์ที่หายไปราวร้อยละ 25 จากส่วนแบ่งตลาดกาแฟในฝั่งคาเฟ่และร้านอาหารที่ต้องปิดตัวไปในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ 

สอดคล้องกับการประเมินจาก เมเร็กซ์ สเป็กตรอน นักวิจัยที่สะท้อนว่าระหว่างช่วงการปิดเมือง กว่าร้อยละ 95 ของตลาดกาแฟนอกบ้านทั่วโลกต้องปิดตัวลงชั่วคราว และแม้หลายพื้นที่จะเริ่มมีมาตรการผ่อนปรนบ้างแล้วแต่ก็ยังต้องใช้เวลารอการใช้จ่ายของผู้บริโภคฟื้นตัว

ซ้ำร้าย รายงานประจำเดือน มิ.ย.จากยูเอสดีเอ ยังประเมินว่าผลผลิตกาแฟทั่วโลกประจำปี 2562/2563 จะมีสูงถึง 176.1 ล้านถุง (ถุงละ 60 กิโลกรัม) หรือมากกว่าตัวเลขผลผลิตในปีก่อนหน้าถึง 9.1 ล้านถุง ซึ่งจะกดดันให้ราคากาแฟต่ำลงไปอีกจากปริมาณอุปสงค์ในตลาดที่อ่อนตัว 

ตามข้อมูลจากองค์กรกาแฟระหว่างประเทศ (ไอซีโอ) พบว่า ราคากาแฟโลกตกลงติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว โดยสัดส่วนตัวบ่งชี้ราคากาแฟโลกลดลงร้อยละ 5.2 และมีราคาซื้อขายเฉลี่ยที่ 99.05 เซนต์สหรัฐฯ (ราว 31 บาท)/ออนซ์ ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขการส่งออกกาแฟในเดือน พ.ค.ก็อยู่ที่เพียง 10.49 ล้านถุง น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 14.6 

สตาร์บัคส์ - AFP -จีน

นอกจากนี้ เมื่อหันไปมองผลประกอบการของแบรนด์ร้านกาแฟชื่อดังอย่างสตาร์บัคส์ประจำไตรมาส 2/2563 ก็พบว่ามีตัวเลขรายรับรวม 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (187,000 ล้านบาท) ตกลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยบริษัทแจงว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโรคระบาด นอกจากนี้บริษัทยังคาดการณ์ว่าจะสูญเงินอีกกว่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (100,000 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สามของปีนี้

ทั้งนี้ ทานเฮงฮอง นักวิเคราะห์การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากบริษัทวิจัยการตลาดมินเทล ชี้ว่า ความหวังในการฟื้นตัวของตลาดกาแฟโลกยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชียที่มองว่าน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่องครึ่งหลังของปี ขณะที่ยูเอสดีเอมองว่าอุปสงค์กาแฟโลกจะกลับมาในปีหน้า 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบั่นทอนอย่างกระแสการกลับมาระบาดระลอกที่สองยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้จ่ายของประชาชน 

อ้างอิง; Bloomberg, CNBC, S&P Global