สมิธเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป หลังจากกลับมาจากการท่องเที่ยวในวันหยุดปลายสัปดาห์กับครอบครัว โดยสมิธเองมีอาการไอเรื้อรังและไม่รับรสจนเธอสงสัยว่าเธออาจจะติดโควิด-19 เหมือนกับคนทั่วไป อย่างไรก็ดี ผลการตรวจออกมากลับระบุว่าสมิธป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด
“จาก ‘คุณไม่ได้ป่วย’ และกลายมาเป็นการวินิจฉัยด้วยอาการทั้งหมดนี้ ฉันไม่อยากจะเชื่อมันเลย” สมิธระบุ โดยแพทย์ระบุกับเธอว่า เธอไม่ได้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ตามที่เธอกังวล แต่เธอกลับป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ทั้งนี้ สมิธเลิกสูบบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2532
“พวกเราไปเที่ยวกันที่บัทลินส์กับครอบครัว ฉันเล่นสไลเดอร์น้ำยักษ์และทุกๆ อย่าง และจากนั้นอาการไอก็เริ่มขึ้น” สมิธคุณยายของหลานทั้งสี่รายระบุกับทางสำนักข่าว BBC “มันไม่มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับฉันนอกจากอาการไอ และจากนั้นเพียงสองอาทิตย์ การรับรสของฉันเริ่มหายไป ฉันฉีดวัคซีนโควิดครบหมดแล้ว ดังนั้นฉันเลยคิดว่า ‘เอาล่ะ ฉันจะไม่เป็นไร แต่ก็แค่ฉันป่วยเป็นโควิด’”
สมิธเริ่มไอมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ก่อนที่เธอจะทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยผลตรวจของเธอกลับเป็นลบมาโดยตลอด ทั้งนี้ สมิธมีอาการไอไม่หยุดในตอนกลางคืน จนเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านทั้งระแวกของเธอ จนเธอตัดสินใจเดินทางไปตรวจสุขภาพกับทางแพทย์
หลังจากสมิธเดินทางถึงโรงพยาบาล เธอได้รับการเข้าเครื่องสแกนเพื่อตรวจปอดของเธอ ก่อนที่แพทย์จะพบมะเร็งในปอดของสมิธ ซ้ำร้ายเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระดูกของเธอจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย และแพทย์ระบุว่าอาการป่วยของสมิธไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว ทั้งนี้ ผลการตรวจของสมิธออกมาหลังจากอดีตสามีและพ่อของลูกทั้งสองของเธอเพื่อเสียชีวิตจากโรคเดียวกันกับที่เธอกำลังป่วยเมื่อ 4 เดือนก่อน
สมิธกำลังได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด พร้อมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันของเธอสามารถต่อสู้กับมะเร็งได้ และยืดอายุของเธอให้ยาวออกไปได้นานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ฉันกังวลเกี่ยวกับเด็ก ๆ ว่าพวกเขาจะรับมืออย่างไร” สมิธกล่าว พร้อมหวังว่าภูมิคุ้มกันบำบัดอาจยื้อชีวิตของเธอให้ยาวออกไปได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ สมิธเรียกร้องขอให้เวลส์มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าการตรวจคัดกรองดังกล่าวลดการตายจากโรคมะเร็งปอดได้ถึง 20%
สำหรับประเทศไทยเอง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และ เป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) การตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่นงดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหิน หรือ มลภาวะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ รีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา: