วันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ประชุมทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ในส่วนของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 ได้มีการพิจารณาการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
โดยมีผู้อุทธรณ์ขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงฝ่ายบริหาร จำนวน 2 ท่านดังกล่าว กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. 2562 แต่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิเสธการเปิดเผยโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่ยื่นไว้เป็นหลักฐาน ตามมาตรา 105 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่โดยตรงในการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบตามมาตรา 243 (3) ประกอบมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2561 ข้อ 7 กำหนดว่า ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากมีการร้องขอเป็นหนังสือเพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ครอบครองดูแลเอกสารดังกล่าวจัดให้ผู้ร้องขอเข้าตรวจดูสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเปิดเผยโดยให้ผู้อุทธรณ์เข้าตรวจดูได้ตามคำร้องขอ