ไม่พบผลการค้นหา
'วรวุฒิ' ห่วง รัฐบาลไม่เข้าใจสถานการณ์ค้าปลีก ชี้ยิ่งเก็บภาษีสูง สินค้ายิ่งขายไม่ได้ ติงแทรกแซงทางดิจิทัลมีผลเชิงลบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มจากจีน

แม้การส่งออกและการท่องเที่ยวจะเป็นสาเหตุหลักของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ทั้ง 2 ปัจจัยไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เศรษฐกิจไทยไม่กลับไปเติบโตอย่างที่เคยเป็น

ภายในงานสัมนา "Disruptive Technology พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส" ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกันจัด 'วรวุฒิ อุ่นใจ' ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชูประเด็นปัญหาการเติบโตตกต่ำต่อเนื่องของวงการค้าปลีกประเทศ 

ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ค้าปลีกไทยมีสัดส่วนการเติบโตต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศมาตลอด ยกเว้นในปี 2557 ที่ประเทศไทยมีจีดีพีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น โดยตัวเลขการเติบโตของวงการค้าปลีกล่าสุดในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่จีดีพีของไทยในปีนั้นอยู่ที่ร้อยละ 4.1 

แม้ตัวเลขร้อยละ 3.4 ของปี 2561 จะดูไม่แย่เมื่อเทียบกับร้อยละ 2.8 ในปี 2560 แต่ประเด็นที่ 'วรวุฒิ' ออกมาแสดงความกังวลอยู่ที่การผิดปกติของการเติบโตของภาคธุรกิจนี้ เนื่องจากตามปกติแล้ว ค้าปลีกควรจะมีการเติบโตมากกว่าจีดีพีของประเทศ ประมาณร้อยละ 1 แต่ทุกวันนี้ค้าปลีกกลับเติบโตต่ำกว่าจีดีพีประเทศมาเสมอ

เงินบาท

เก็บภาษีสูงแต่ไม่คุ้ม

สิ่งที่บั่นทอนการเติบโตของค้าปลีกไทยในสายตาของวรวุฒิมาจากโครงสร้างการเก็บภาษีศุลกากรที่สูงเกินไปกับสินค้าในหมวดกึ่งคงทน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอาง ที่มีการเรียกจัดเก็บภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 20-40 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยจัดเก็บภาษีในหมวดนี้เพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น

ปัญหาแรกที่ตามมาเป็นเงาตามตัว คือการเปลี่ยนสถานที่ซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เลี่ยงการจ่ายสินค้าที่มีราคาแพงจากภาษีในประเทศและเลือกไปซื้อสินค้าในต่างประเทศแทน 

ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ชี้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2560 มีทั้งสิ้น 8.83 ล้านราย และมีการใช้จ่ายสูงถึง 286,000 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,537.08 บาท/วัน โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยเข้าไปจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด ประมาณ 42,290 ล้านบาท 

เมื่อไปดูอัตราการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ตามข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศุลกากร หัวข้อระบบภาระภาษีสำหรับสินค้าในเชิงพาณิชย์ ในย่อหน้าก่อนสุดท้ายกล่าวว่า 

  • "ในปี 2550 อัตราภาษีโดยเฉลี่ยต่อสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ขณะที่สินค้าด้านเกษตรกรรมอยู่ที่ร้อยละ 10.1 สินค้าประเภทปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และสินค้าประเภทไม้ จาว กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่ร้อยละ 1.7"

ผลกระทบต่อเนื่องนอกจากคนไทยจะไม่ซื้อของในประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเยือนไทยกว่า 40 ล้านคน/ปี ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มกระตุ้นยอดขายสินค้าของวงการค้าปลีกก็ไม่ซื้อสินค้าในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ทำให้ประเทศเสียโอกาสจากจำนวนนักท่องเที่ยวตรงนี้ไปอย่างสูญเปล่า

โครงสร้างสัมปทานไทยยังทำร้ายวงการค้าปลีกเพิ่มด้วยการปล่อยให้ ธุรกิจขายสินค้าปลอดภาษีซึ่งควรจะเน้นการทำตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาทำการตลาดแข่งกับวงการค้าปลีกที่ต้องเสียภาษีตามปกติ ซึ่ง 'วรวุฒิ' ชี้ว่า นี่เป็นการเอาเปรียบค้าปลีกอย่างชัดเจน เพราะค้าปลีกที่ต้องเสียภาษีจะสู้ราคากับธุรกิจปลอดภาษีได้อย่างไร

ขณะที่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสูงของไทย คือการเพิ่มขึ้นของตลาดการค้าผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับอานิสงส์ในการติอต่อกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นจากการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ 

'วรวุฒิ' ชี้ว่า การเก็บภาษีในอัตราสูงจากสินค้าที่ควรจะขายได้ในประเทศ ทำรายได้ให้รัฐบาลเพียง 40,000 ล้านบาท/ปี เท่านั้น แต่หากรัฐบาลลดอัตราภาษีลงมาให้อยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เม็ดเงินกว่า 200,000 บาท/ปี ที่คนไทยขนไปซื้อของในต่างประเทศ รวมทั้งเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลจะยังเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มได้อีกด้วย


'ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม' กับการเสียรู้ให้จีน 

การปรับตัวเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจรู้ว่าต้องทำ เช่นเดียวกับวงการค้าปลีก ทั้งรายใหญ่และรายเล็กที่หันเข้าซบแพลตฟอร์มออนไลน์แทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม 'วรวุฒิ' ชี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาดูตลาดนี้อย่างใกล้ชิด โดยยกตัวอย่างว่า ช่วงที่ผ่านมาแพลตฟอร์มเหล่านี้มีโปรโมชันลดราคาสินค้าต่ำกว่าต้นทุนมากมาย ทั้งเทศกาล 11.11 หรือ 12.12 จนทำให้ผู้ค้าบางคนต้องแบกภาระขาดทุน 

'วรวุฒิ' เปรียบเทียบนโยบายการควบคุมการค้าของรัฐบาลว่า ในสมัยที่โมเดิร์นเทรดเข้ามาใหม่ๆ และมีการลดราคาสินค้าจนต่ำกว่าต้นทุน กระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้นรีบออกมาตรการจัดการทันที แต่ปัจจุบันกลับไม่มีภาคส่วนใดของรัฐบาลออกมาดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น

จีน.jpg

นอกจากนี้ 'วรวุฒิ' ยังชี้ว่า แพลตฟอร์มที่เข้ามาทำตลาดลดราคาสินค้าเหล่านี้ล้วนมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น และมีเป้าหมายในการเข้ามายังประเทศไทยในรูปแบบธุรกิจแบบการเผาเงิน (Burning Money) หรือการใช้เงินสร้างตลาดขึ้น แม้จะต้องขาดทุนกันเป็นเวลานานและสูญเสียเม็ดเงินหลายพันล้านบาท แต่เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถเป็นผู้เล่นในตลาดรายใหญ่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้บริโภคทั้งหมดได้แล้ว ผู้เล่นรายอื่นจะหมดสิทธิในการลุกขึ้นมาต่อสู้แน่นอน 

"กลัว(รัฐบาล) ไม่เข้าใจเรื่องนี้ กลัวไปหลงคารมจีน" วรวุฒิ กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือค้าปลีกรายย่อยหรือแม้แต่รายใหญ่ของไทย จำเป็นต้องพึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ และสิ่งที่บริษัทในจีนได้แลกมากับเงินที่เสียไปในจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัท คือข้อมูลผู้บริโภคของไทย และเมื่อมีข้อมูลมากพอ แพลตฟอร์มจากจีนเหล่านี้จะสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดได้ทุกเมื่อที่บริษัทมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ

วรวุฒิ ปิดท้ายว่า ข้อมูลที่แลกกันไปกับการเสียเงินของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มในจีนมีค่ามหาศาลกว่ามาก จีนพัฒนาระบบการผลิตสินค้ามากว่า 30-40 ปี ปัจจุบันไม่มีประเทศใดแข่งกับจีนได้แล้ว และก็ไม่มีสินค้าไหนที่จีนผลิตไม่ได้ มันอยู่แค่ว่าจีนคิดอยากจะเข้ามาผลิตหรือไม่ และผู้ประกอบการไทยสู้ไม่ได้แน่นอน

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและส่งเสริมแกมบังคับให้ผู้ค้าปรับตัว รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสนามการแข่งขันให้ผู้ค้าคนไทยให้สามารถแข่งได้อย่างยุติธรรมก่อน ไม่อย่างนั้นคนไทยก็แพ้ตั้งแต่ก่อนถูกดิจิทัลเข้ามาแทรกแซงแล้ว