ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกลเสนอแนวทางฟื้นฟูอาเซียน หลังโควิด-19 นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 26 มิ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีพิธีเปิดไปเมื่อเวลา 08.30 น. มี 10 ชาติสมาชิกอาเซียนและเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุม โดยการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลง เพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 3 แนวทาง ได้แก่ 

1. การส่งเสริมให้อาเซียนกลับมาเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ด้วยการเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 

2. สนับสนุนให้อาเซียนสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นการขับเคลื่อนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 

3. ส่งเสริมให้อาเซียนสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยจัดทำแผนฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เน้นความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งครอบคลุมถึงความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และความมั่นคงของมนุษย์ และเสนอให้อาเซียนพิจารณาใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องการส่งเสริมศักยภาพสตรี และการหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA) เยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth) และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN-BAC) อีกด้วย

ผู้นำเวียดนาม ขอบคุณเพื่อนบ้านที่ร่วมกันควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งนี้มี "เวียดนาม" เป็นเจ้าภาพ โดยกรอบการหารืออยู่ภายใต้แนวคิด "แน่นแฟ้นและตอบสนอง" โดยทั้ง 10 ประเทศอาเซียน จะร่วมกันกำหนดทิศทางความร่วมมือของประชาคม ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจัดทำแผนงานสำหรับการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาด โดยจะเน้นความยั่งยืนในทุกมิติ ครอบคลุมความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และความมั่นคงของมนุษย์

นายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2563 ขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร่วมกันควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น พร้อมมองว่าคครึ่งปีหลังเป็นความท้าทายที่จะก้าวออกจากสภาวะถดถอยที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

อย่างไรก็ตามภายหลังการกล่าวถ้อยแถลง ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ก็จะให้การรับรอง วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้น และตอบสนอง เพื่อรับมือกับความท้าทายภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวมถึง ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :