ผู้ซื้อห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (เดิมชื่อ สิราลัย) กว่า 100 ราย เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล (ศูนย์ดำรงธรรม) สำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา และถวายฎีกา ที่สำนักพระราชวังในช่วงบ่าย
เป็นความพยายามตลอด 3 ปี นับตั้งแต่ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท กีธา พร็อพเพอตี้ส์ จำกัด เจ้าของโครงการ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้มีความผิดฐานร่วมกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง และพวก ดำเนินโครงการคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ เมื่อ 25 ส.ค.2560 และ ปปง. อายัดทรัพย์ของน.ส.ธันยพร ซึ่งรวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้การดำเนินการของบริษัท กีธาฯ ทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่
นายอานนท์ เหลืองวนิชประภา หนึ่งในผู้ซื้อห้องชุดในโครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) สาทร-เจริญราษฎร์ เปิดเผยกับทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ได้ตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมโครงการนี้มาตั้งแต่เปิดให้ผ่อนดาวน์ ก็ผ่อนดาวน์มาเรื่อยๆ จนครบ
กระทั่งปี 2560 ทราบว่า โครงการนี้ถูก ปปง. อายัดไว้ ทั้งที่จ่ายค่าผ่อนดาวน์ไปแล้วทั้งสิ้น 5 แสนบาท และตั้งใจซื้อห้องชุดนี้ไว้เพื่ออยู่อาศัยหลังแต่งงานด้วย แต่หลายอย่างก็ผิดแผนไปหมด
"ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราไปพบหลายหน่วยงานมากๆ เราเดินเรื่องทั้งทางกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ปปง. ซึ่งที่มา ปปง. ก็เพื่อให้เขาทราบว่า เงินที่ยึดจากเราไป เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าว และเพื่อนๆ ในโครงการนี้ ก็มีเงินติดอยู่กับโครงการนี้หลายแบบ บางคนก็หลักแสน บางคนหลักล้านบาท และหลายปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า" นายอานนท์ กล่าว
นางศิริพร ปิติอนุสรณ์ เป็นอีกหนึ่งผู้ซื้อห้องชุุดในโครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) สาทร-เจริญราษฎร์ เล่าว่า เริ่มจองคอนโดฯ โครงการนี้ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว และปัจจุบันโครงการนี้สร้างถึงชั้น 14 แต่ก็เพียงซากตึก มีแต่โครงตากฝนตากลมอยู่ เพราะยังสร้างไม่เสร็จ เป็นซากตึกเก่าที่ไม���มีราคา แต่สร้างความเจ็บช้ำในชีวิต เพราะเงินที่นำไปผ่อนดาวน์ที่นั้นสูงถึง 1 ล้านบาท
ขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 3 ปี ร้องเรียนมาหลายหน่วยงานราชการ ก็ยังไม่ทราบว่า จะได้เงินคืนจากไหน บางคนบอกว่า คดีจีทูจีตอนนี้เป็นเพียงศาลชั้นต้น ถ้าต้องรอคดีถึงที่สุดอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีอย่างนี้ เราจะอยู่รอไหวไหม
"ดิฉันเอาเงินก้อนที่เก็บออมและเงินเกษียณมาจองโครงการนี้ เพราะตั้งใจว่า จะดาวน์ให้กับลูกชายที่ตอนนั้นอยู่ต่างประเทศ และคำนวณว่า พอลูกกลับมาเมืองไทย เราก็ผ่อนดาวน์หมดและโครงการก็น่าจะสร้างเสร็จ แต่ตอนนี้ กลับเป็นว่า เงิน 1 ล้านบาทของเราก็ถูกฟรีซอยู่กับโครงการ มันเป็นการเสียโอกาสทั้งที่เงินจำนวนนี้ เราน่าจะได้ไปซื้อโครงการอื่นที่ตอนนี้น่าจะเข้าอยู่ได้แล้ว แต่ตอนนี้เรากลับเห็นเป็นแต่ซากตึกเก่า แล้วเราวัยนี้แล้วจะหาเงินจำนวนนี้ได้จากที่ไหน" นางศิริพร กล่าว
อีกทั้ง ปัญหาที่ผ่านมา คือ แต่ละหน่วยงานประสานงานกันไม่ดี เคยขอเข้าพบ คสช. มาทุกปี และวันนี้ เราก็อยากให้ คสช. แก้ปัญหาให้เรา เพราะถ้าไปหน่วยงานย่อยๆ เขาก็โยนกันไปโยนกันมา ซึ่งก่อนหน้านี้ หากศาลชั้นต้นออกมาว่าทรัพย์ของกีธาฯ ถูกยึด คสช. ก็จะออกมาตรการเยียวยามาดูแลพวกเรา และนี่ก็ผ่านมา 6 เดือนแล้ว ก็ยังเงียบ เพราะศาลชั้นต้นมีคำตัดสินตั้งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
นางศิริพร ยืนยันว่าเราไม่ได้ต้องการความเห็นใจ แต่เราต้องการการแก้ปัญหา ความเห็นใจถ้าไม่แก้ปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์
"ตอนนี้ เราต้องการเพียงเงินต้นคืนมา เราไม่ต้องการเงินชดเชยเยียวยา ทั้งที่ผ่านมา ทุกคนต่างมีต้นทุนเวลา แรงงาน ค่าเดินทางในทุกครั้งที่มาร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ มาตลอด 3 ปีนี้" นางศิริพร กล่าว
ด้านนายสมภพ ทวีศักดิ์ ผู้ซื้อห้องชุดในโครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) รัชดา-ประชาอุทิศ เล่าว่า ตนเป็นฟรีแลนซ์ทำงานในวงการโฆษณา และก็ผ่อนดาวน์โครงการนี้ไปแล้ว 3.6 แสนบาท แต่ยังไม่ทันยื่นกู้ แม้ว่าจำนวนเงินของตน เมื่อเทียบกับคนที่เสียหายหลักล้านบาทอาจดูไม่มาก แต่เงินก้อนนี้ก็เป็นเงินเก็บที่สะสมมาตั้งแต่ทำงานปีแรกๆ เพราะตั้งใจไว้ว่าสักวันจะมีบ้านของตัวเอง จึงผ่อนดาวน์มาเรื่อยๆ แต่กลับมาเจอเรื่องแบบนี้
"3 ปีที่ผ่านมา เราไปทุกที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตั้งแต่ศาล ปปง. ทำเนียบรัฐบาล แต่วันนี้กลับมาพบว่า ปปง. บอกว่า พวกเราไม่ใช่ผู้เสียหาย ทั้งที่ตรรกก็เห็นชัดๆ ว่า เราเป็นผู้เสียหายจากโครงการนี้ แล้วเราก็ต้องการเพียงเงินต้นของเรา แต่กลับไม่มีวิธีการใดจากรัฐที่จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ให้พวกเราเลย ทั้งที่พวกเรามาที่นี่มา 3-4 ครั้งแล้ว ครั้งแรกๆ คนมาเยอะ จนตอนนี้หลายคนทั้งเหนื่อย ทั้งเบื่อ และเริ่มถอดใจด้วยซ้ำ " นายสมภพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน 2 ใน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) รัชดา-ประชาอุทิศ และโครงการ MY STORY ลาดพร้าว 71 เป็นโครงการสร้างเสร็จแล้ว มีผู้ซื้อจำนวนหนึ่งเข้าพักอาศัย แต่เนื่องจากเป็นตึกที่ ปปง. ยึดและตามระเบียบ ปปง. สามารถนำทรัพย์มาสร้างมูลค่าได้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปปง. นำห้องชุดที่ว่างมาปล่อยเช่าในราคาเริ่มต้นเดือนละ 5,000-6,000 บาทต่อยูนิต ซึ่งสร้างความกังวลแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องพักที่ต้องผ่อนดาวน์และผ่อนเงินกู้แบงก์หลักหมื่นบาทต่อเดือน รวมถึงปัญหาเรื่องค่าส่วนกลางนานา
นายวิษณุ จิรัฐติกาลสกุล ผู้ผ่อนดาวน์ห้องชุด โครงการ MY STORY ลาดพร้าว 71 บอกว่า ชีวิตต้องผิดแผนหลายเรื่องตลอดหลายปีที่โครงการชะงัก หลังจาก ปปง. เข้ามาอายัดตึก ทั้งที่ตอนที่เขาเริ่มผ่อนดาวน์คอนโดฯ เขามีอายุ 30 ปี ผ่อนจนครบกำหนด 187,000 บาท กระทั่งจะทำเรื่องกู้แบงก์ โครงการถูกชะงัก และเงินดาวน์ก็ค้างอยู่ที่บริษัทผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งถูกอายัดทรัพย์
"เริ่มผ่อนดาวน์ตั้งแต่ 30 ตอนนี้ก็เข้าวัย 36 ปีแล้ว เวลา 6 ปีที่เคยวางแผนอะไรไว้ ถึงตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนหมด นับเป็นการเสียเวลาชีวิต โดยที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเราเลย" นายวิษณุ กล่าว
ด้าน พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผู้อำนวยการกองคดี 4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ตนนับเป็นผอ. คนที่ 4 แล้วที่เข้ามาดูแลคดีนี้ แต่วันนี้ก็พยายามทำความเข้าใจกับผู้เสียหายว่า ตามมาตรา 49 วรรค 6 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นั้นคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายตามมูลฐานใน พ.ร.บ. ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก็เห็นใจผู้ร้องที่ร้องกันมาหลายปี ไปมาหลายที่ ขณะที่ ปปง. ก็พยายามทำเรื่องการคุ้มครองสิทธิ และพยายามช่วยตามช่องทางที่ ปปง. ถือกฎหมายอยู่ แต่เนื่องจากมูลฐานนี้ ผู้ฟ้องไม่ใช่ชาวบ้าน และทรัพย์ที่ผ่อนไปเป็นของบริษัท แล้วยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ จึงไม่สามารถเข้าสู่คดีในฝั่งผู้คัดค้านได้
"คดีนี้จึงต้องหาช่องทางอื่น ทั้งกรมบังคับคดี และสำนักนายกฯ ซึ่งต้องให้ระดับบนเป็นเจ้าภาพเข้ามาแก้ปัญหาให้กับกลุ่มนี้ต่อไป" พ.ต.ท. ธีรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท. ธีระพงษ์ เป็นผู้อำนวยการกองคดีคนที่ 4 แล้วที่เข้ามารับเรื่องกรณีนี้ และเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งนี้เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เขายืนยันว่า จะพยายามหาช่องทางทางกฎหมาย รวมถึงการเสนอให้หน่วยงานระดับบนเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :