ไม่พบผลการค้นหา
ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อาจเซ็นสัญญาไม่ทัน มิ.ย. นี้ ผอ.การท่าฯ ยืนยันกระบบวนการประมูลโปร่งใส หลังมีข่าวลือผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติให้ผลตอบแทนมากกว่าเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก ลุ้นฝ่ายกฎหมายอีอีซีเคาะเดินหน้าต่อหรือไม่

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เปิดเผยว่า การประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 84,000 ล้านบาท ได้เริ่มเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC แล้ว 

อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการเจรจาได้ เนื่องจากยังคงต้องรอฝ่ายกฎหมายอีอีซี สรุปว่าจะยืนตามแนวทางของคณะกรรมการคัดเลือกฯ หรือไม่ หลังกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ซึ่งเป็นเอกชนอีกรายที่ไม่ผ่านคุณสมบัติยื่นอุทธรณ์ภายหลังถูกปัดตก เนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน

ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่า NPC เสนอผลตอบแทนให้มากกว่า GPC ที่เหลือรายเดียว ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยันยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตามระเบียบประมูลไม่สามารถเปิดซองที่ 4 เรื่องข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติตั้งแต่ซองที่ 2 ดังนั้นยืนยันว่ากระบวนการประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส เนื่องจากทำตามขั้นตอนการประมูล และมีผู้แทนองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นร่วมสังเกตการณ์กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทุกครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ (17 พ.ค.) ฝ่ายกฎหมายอีอีซีจะมีการพิจารณาเพื่อสรุปแนวทางดำเนินการต่อ ซึ่งหากยืนตามแนวทางของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจาร่วมกับ GPC แต่จะทันกำหนดการเดิมที่จะลงนามในสัญญาได้ในเดือน มิ.ย. นี้หรือไม่ ยังไม่ชัดเจน

2 กลุ่มทุนชิง ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 อภิมหาโปรเจกต์อีอีซี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา การท่าเรือฯ ได้เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 และมีผู้เข้าประมูล 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือ ปตท., บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด จากประเทศจีน 

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิง จำกัด, บริษัท ไชน่า เรลเวบ์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CRCC ประเทศจีน

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2561 และได้รับการพิจารณาเห็นชอบดำเนินการ โดยทั้ง 5 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท และรัฐบาลชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 8.2 แสนล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท และจะเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่าปีละ 4 หมื่นคน

ปตท. รอความชัดเจนท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ก่อนเคาะร่วมไฮสปีดเทรน

นายชาญศิลป์ ตรีกรนุช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ปตท.ยังไม่ล้มแผนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภมิ อู่ตะเภา) 

แต่จะร่วมทุนหรือไม่ ต้องรอดูว่า กลุ่มซีพีที่ชนะการประมูลจะชักชวนเข้าร่วมทุนหรือไม่ หากชักชวนก็จะให้คำตอบภายในปลายปีนี้ โดยต้องดูภาพรวมการลงทุนของกลุ่ม ปตท. จะเป็นอย่างไร เนื่องจากต้องใช้วงเงินลงทุนสูง 

อีกทั้ง ปตท. ได้เข้าร่วมเสนอประมูลอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :