องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เตือนว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าคนที่หายจากโรคโควิด-19 จะพัฒนาภูมิคุ้มกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำในอนาคต ดังนั้น การอนุญาตให้ผู้ที่หายจากการติดเชื้อได้รับการรับรองว่าปลอดความเสี่ยง อาจเพิ่มการติดเชื้อ เพราะคนที่หายจากอาการติดเชื้ออาจละเลยคำแนะนำด้านการป้องกันไวรัส
WHO อธิบายว่าการทดสอบภูมิคุ้มกันที่ไม่แม่นยำจะจัดกลุ่มประชากรผิดพลาดไปใน 2 ทาง คือ การทดสอบเหล่านี้อาจแปะป้ายอย่างผิดๆ ว่าคนที่เคยติดเชื้อแล้วไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนอาจถูกแปะป้ายอย่างผิดๆ ว่า มีความเสี่ยง ซึ่งความผิดพลาดทั้ง 2 ทางนี้จะส่งผลเลวร้ายตามมาและจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการควบคุมโรค
คำเตือนของ WHO มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลบางประเทศ เช่น ชิลีและสวีเดน กำลังพิจารณามาตรการตรวจสอบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการออก 'พาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน' หรือใบรับรองการปลอดความเสี่ยง ให้กับคนที่หายจากโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา ซึ่งจะอนุญาตให้คนนั้นสามารถเดินทางหรือกลับไปทำงานโดยสันนิษฐานว่า คนนั้นมีภูมิคุ้มกันที่จะไม่ติดเชื้ออีก
รัฐบาลหลายประเทศกำลังพิจารณาแผนการให้ประชาชนค่อยๆ กลับไปทำงานตามปกติ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก
โฆษกของ WHO ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ตนเข้าใจเจตนาของรัฐบาลหลายประเทศที่พยายามจะออกเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าใครสามารถกลับไปทำงานอย่างปลอดภัยหรือไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปอีกแล้ว แต่จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ เรายังไม่อาจรู้ได้ว่า คนที่เคยติดเชื้อมาแล้วจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ติดเชื้อได้อีก และหากคนนั้นมีภูมิคุ้มกันนี้จะมีผลยาวนานแค่ไหน
นอกจากนี้ WHO ยังเชื่อว่าจะต้องมีการตรวจสอบและรับรองเพิ่มเติมว่า การทดสอบทางเซรุ่มวิทยาที่ใช้ค้นหาแอนติบอดีในตอนนี้ มีความแม่นยำและเชื่อถือได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทดสอบจะต้องสามารถแยกแยะได้ระหว่างการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 และแอนติบอดีที่สร้างขึ้นระหว่างการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาในมนุษย์อื่นๆ อีก 6 สายพันธุ์
โดยไวรัสโคโรนา 4 สายพันธุ์พบได้ทั่วไป และเป็นสาเหตุของไข้หวัดอ่อนๆ ส่วนอีก 2 สายพันธุ์คือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเมอร์สและโรคซาร์ส ซึ่ง WHO ระบุว่า คนที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งจะสามารถสร้างแอนติบอดีที่มีปฏิสัมพันธ์กับแอนติบอดีที่สร้างเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
แคริน เบิร์น อาจารย์ด้านระบาดวิทยาและชีวสถิติจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกทำงานร่วมกับทีมตรวจสอบประสิทธิภาพของการทดสอบแอนติบอดีกล่าวว่า ข้อมูลที่มี ชี้ว่า การทดสอบบางอย่างสามารถวัดระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชากรได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือแอนติบอดีเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับแอนติบอดีที่จะป้องกันการติดเชื้อในอนาคตหรือไม่
ทั้งนี้ เบิร์นกล่าวว่าเมื่อพบเชื้อชนิดใหม่การตรวจสอบแอนติบอดีก็เป็นปัญหาที่พบประจำเพราะไม่มีใครที่มีภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่ต้นและนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าคนมีภูมิคุ้มกันแล้วหรือยังอาจจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วแต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจและยังไม่รู้ว่าภูมิคุ้มกันจะมีผลไปอีกนานเท่าไหร่
ที่มา : WHO, Al Jazeera, BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :