ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ชวนอ่านหนังสือ "ถามได้หรือไม่เมื่อใดจึงเป็นชาติ" ข้อเสนอที่ท้าทายนิยามชาติแบบเก่าของชนชั้นนำ โดยชี้ว่า ก่อนจุดกำเนิดความเป็นชาติ ต้องหาความหมายของคำว่าชาติให้ได้เสียก่อน

ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ร้าน Bookmoby Reader's Cafe จัดเสวนาพร้อมเปิดตัวหนังสือ "ถามได้หรือไม่เมื่อใดจึงเป็นชาติ" เป็นการรวมบทความ-ข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการกำเนิดขึ้นของชาติ รัฐ และรัฐชาติ จากนักคิดคนสำคัญ 4 คน คือ แดเนียล คอนแวร์ซี, วอล์กเกอร์ คอนเนอร์, แอนโทนี ดี.สมิธ, จอห์น เบรยยี่ 

โดยศาสตราจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอของ "สมิธ" หนึ่งในผู้เขียนว่า ให้มองประวัติศาสตร์ระยะยาวของชาติ ที่ไม่ได้หาวันที่เริ่มต้น แต่ต้องดูกระบวนการสร้างความเป็นชาติตามนิยาม ซึ่งเชื่อมกับแต่ละช่วงยุคจากอดีตอย่างไรโดยเฉพาะมิติของชนชั้นนำ ตลอดจนความทรงจำที่จะนำสู่สำนึกร่วมของคนในรัฐ โดยไม่ได้มองแค่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ที่แม้จะมีอยู่หรือมีอย่างหลากหลายในรัฐชาติเท่านั้น

ขณะที่การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของชาวตะวันตก มุ่งความเป็นใหญ่และล่าอาณานิคม ส่วนที่จีน ซึ่งมีทรัพยากรและศักยภาพที่จะเป็นจักรวรรดิได้ กลับไม่ดำเนินการแบบตะวันตก เพราะเพียงพอแล้วกับสิ่งที่มีอยู่ในลักษณะอาณาจักรของตน ไม่คิดที่จะหากำไรจากดินแดนอื่น ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกช่วงก่อนยุคสาธารณรัฐ ซึ่งศาสตราจารย์ ธเนศ มองว่า เป็นลักษณะประวัติศาสตร์ที่ยอกย้อน

เสวนา ถามได้ไหมทำไมจึงเป็นชาติ

ศาสตราจารย์ ธเนศ ระบุถึง การจะใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ โดยการวิพากษ์นิยามความเป็นชาติของชนชั้นนำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะผลงานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ต้องหักล้างหลักฐานการอธิบายสำนึกความเป็นชาติ ที่กรมพระยาดำรงฯ ใช้ และไม่เคยเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรการศึกษาไทยมาเลย โดยเฉพาะการแบ่งยุคสมัย จากพุทธศิลป์ หรือรูปแบบการปั้นพระพุทธรูป เป็นแกนหลัก ในการยิง กับอดีต ให้ไกลที่สุดตั้งแต่ยุคทวารวดี ยุคสุโขทัย- อยุธยา เป็นต้นมา 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักของไทยตามแนวของกรมพระยาดำรง ยอมรับว่ามีชนชาติอื่น ทั้งมอญ ขอมและลั้ว อยู่มาก่อน ก่อนที่ชนชาติไทยในความเข้าใจของพระยาดำรงจะมาครอบครองดินแดนแถบนี้เพราะมีกำลังคนมากกว่า ทั้งยังอ้างเรื่องที่ครอบครองดินแดนแถบนี้มาอย่างยาวนาน เพราะมีคุณธรรมในการปกครอง ที่อิงกับพุทธศาสนาจึงต้องย้อนความเชื่อมโยงไปให้ถึงอินเดีย ใช้ "คอนเซ็ปต์แบบฝรั่ง" อธิบายความเป็นชนชาติไทย 3 อย่าง คือ 1) ความรักอิสระ 2)​ ปราศจากวิหิงสา หรือการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 3)​ ฉลาดในการประสานประโยชน์ ซึ่งสะท้อนว่า นิยามความเป็นชาติถูกนิยามหรือประกอบสร้างโดยชนชั้นนำ

นายธนภาษ เดชพาวุฒิกุล จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ หลักสูตรอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ คือการท้าทายกระแสความคิดหลักเกี่ยวกับความเป็นชาติ ที่พยายามเชื่อมโยงกับอดีตให้ไกลที่สุด คงเส้นคงวาและต่อเนื่องมายาวนาน โดยหนังสือไม่ได้สนใจการใช้งานวิชาการที่ย้อนกลับไปหาอดีต แต่มุ่งความสนใจที่การเคลื่อนไหวของรัฐชาติสมัยใหม่ ว่าเกิดขึ้นในอุดมการณ์ของชาติแบบใหม่มาสนทนากับผู้อ่าน โดยตั้งอยู่บนข้อถกเถียงเรื่อง "ชาติ" 

นายธนภาษ กล่าวด้วยว่า การนำเสนอเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และจะมีประโยชน์ในการใช้เป็นบทสนทนาสำหรับนักวิจัยโดยไม่มีข้อสรุปว่าถูกหรือผิด แต่จะเป็นการเปิดประเด็นใหม่ๆขึ้นมา ท่ามกลางการนิยามการก่อกำเนิดและความเป็นชาติของนักวิชาการแต่ละยุคสมัยและนักวิชาการแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าจะมองชาติในแง่อุดมการณ์ร่วมหรือมองในมิติของความเป็นรัฐ

นายฐนพงศ์ ลือขจรชัย นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า คอนเซ็ปต์ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเก่าที่มีมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ไม่ถูกนำเข้ามาในวงวิชาการหรือการศึกษาของสังคมไทย โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้หาคำตอบว่า ชาติเริ่มตรงไหนหรือเมื่อใดที่เรียกว่าเป็น"ชาติ" แต่สิ่งที่ผู้เขียนทำคือ การกลับหัวกลับ คือหาว่า "มีปัจจัยอะไรที่ยังไม่เป็นชาติ" เพราะเมื่อจะหาว่าชาติเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ต้องหาความหมายของความเป็น "ชาติ" ให้ได้ก่อน

นายฐนพงศ์ มองว่า การหาว่า "ชาติ" เริ่มขึ้นเมื่อใดไม่สำคัญ เพราะไม่ได้ส่งผลต่อคนในรัฐปัจจุบัน และการกำหนดความเป็นชาติก็ถูกโต้แย้งได้เสมอ ไม่ว่าจะใช้ช่วงของยุคสมัย ชาติพันธุ์หรือเขตแดนเป็นเกณฑ์วัด เพราะคนข้ามไปมาหาสู่กันตลอด อีกทั้งการที่เจ้าหญิงรัฐทางเหนือ หรือดินแดนอื่นๆ ต้องมาเป็นสนมหรือมเหสี พระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯช่วงกลางยุครัตนโกสินทร์นั้น เจ้านายในกรุงเทพฯอาจอ้างว่าเป็นชาติเดียวกัน

รวมถึงการส่วนข้าหลวงลงไปประจำการ แต่คนคนทางเหนือ อีสานและดินแดนอื่นอาจไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มอาจมองว่า ต้องมองคนภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยว่ายอมรับว่าเป็นภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานเมื่อใด จึงจะเรียกรัฐรวมศูนย์นี้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเป็น "ชาติเดียวกัน" ได้ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นข้อถกเถียงและคำถามที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งข้อสังเกตไว้

ที่สำคัญ เมื่อชนชั้นนำ "เคลม" เรื่องชาติโดยอ้างมวลชนหรือประชาชนในรัฐว่าต้องสามัคคีกันเพราะเป็นชาติเดียวกันนั้น ก็ต้องกลับไปถามคนในรัฐว่ามีสำนึกร่วมถึงความเป็นชาติเหมือนอย่างที่ชนชั้นนำคิดหรือเปล่าด้วย ซึ่งในหนังสือจะไม่ได้ให้คำตอบอะไร แต่จะทำให้เกิด การถกเถียงกันและจะนำสู่ประเด็นใหม่ๆ ในการศึกษาเรื่องการกำเนิดชาติ ทั้งในแง่สำนึกร่วม, อุดมการณ์รัฐและอื่นๆ