ไม่พบผลการค้นหา
ช่วงเวลาความขัดแย้งการเมืองไทยนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กลไกในฉุดรั้งการพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยที่ถูกนำออกมาใช้บ่อยครั้งกว่าการรัฐประหารคือ การยุบพรรคการเมือง 4 คือจำนวนครั้งที่มีการตัดสิน 9 คือจำนวนพรรคการเมืองที่ถูกยุบ แน่นอนเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับการเมืองไทย แต่รากฐานของแนวคิดว่าด้วยการยุบพรรคไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้จัดการศัตรูทางการเมืองของผู้ทรงอำนาจ

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ช่วงปี 2548 เป็นต้นมา นอกเหนือไปจากการใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืนเข้ารัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 2557 รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบกลไกที่บิดเบี้ยวส่งผลให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และที่หนักที่สุดคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีอีกกลวิธีหนึ่งที่ฝ่ายปฏิปักษ์มักใช้เป็นประจำ เมื่อการล้มรัฐบาล และร่างกติกาใหม่ ไม่สามารถทำให้ผู้เล่นในฝั่งตัวเองชนะในเกมการเมืองที่ออกแบบไว้ได้

กลวิธีที่ว่าคือ ‘การยุบพรรคการเมือง’ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นชี้ตายชีวิตทางการเมืองของพรรคต่างๆ ที่ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่มาจากการสรรหา และส่งผลต่อสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมาก แน่นอนว่ายังไม่ได้นับรวมกลไกอื่นๆ ที่ถูกหยิบออกมาใช้ในยามบ้านเมืองถูกบีบคั้นให้เข้าสู่ภาวะวิกฤต เช่น การตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การสั่งปลดนายกรัฐมนตรี การยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการยับยั้งการเคลื่อนไหวประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยชี้ว่านั้นคือ ความพยายามล้มล้างการปกครอง

ขณะนี้มีแนวโน้มว่ากลไกลนี้จะถูกหยิบขึ้นมาใช้อีก ในช่วงเวลาที่ความนิยมของฝ่ายประชาธิปไตยพุ่งสู่ง ขณะที่ฝ่ายอำนาจนิยมถดถอยลง 

‘วอยซ์’ รวบรวมการยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ภายใต้สถานการณ์อะไร และผลของการยุบพรรคการเมืองเหล่านั้นส่งผลอย่างไรต่อทิศทางการเมืองไทย รวมทั้งจุดเริ่มต้นของการยุบพรรคในทางกฎหมายสากลเกิดขึ้นมาจากเจตนารมณ์ใด 

ทักษิณ หาเสียง เลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย 2549 3.jpg
  • การขึ้นเวทีหาเสียงทางการเมืองครั้งสุดท้ายในนามหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ก่อนการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549
ปฐมบท ยุบไทยรักไทยหลังรัฐประหาร 49 จุดเริ่มต้น ‘ตุลาการภิวัฒน์’

ช่วงความขัดแย้งทางการเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือน ก.ย. 2548 เวลานั้นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พธม. ได้ปลุกกระแสชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยการกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น และกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมหมิ่นเบื้องสูง พร้อมเรียกร้องให้มีนายกพระราชทานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 แม้จะมีการยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ. 2549 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่พรรคการเมืองอื่นๆ นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ กลับคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 

ในช่วงแวลาหลังการเลือก มีการตั้งข้อหาการเลือกตั้งครั้งนั้นว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยบรรเจิด สิงคะเนติ และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้อำนวยการ กอ.รมน. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยได้ส่งคำร้องมา 4 ประเด็นคือ

1) การกำหนดวันเลือกตั้งไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม เพราะห่างจากการยุบสภาเพียง 35 วัน

2) การจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้เลือกตั้ง ‘หันหน้า’ เข้าคูหาลงคะแนน และ ‘หันหลัง’ ให้คณะกรรมการประจำหน่วยการเลือกตั้ง เท่ากับละเมิดหลักการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3) มีพรรคการเมืองใหญ่ว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคการเมืองเล็กลงสมัครการเลือกตั้ง

4) กกต. พิจารณารับรองผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้ประชุมหารือครบองค์ประชุม ขัดต่อกฎหมาย

แต่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยกรณีนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างในเวลาต่อมานักวิชาการและสื่อมวลชนเรียกกันว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ โดยเฉพาะกรณีที่ประมุข 3 ศาล ประกอบด้วย ผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฎิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, อัขราทร จุฬารัตน์ ประธาน ศาลปกครองสูงสุด, ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 28 เม.ย. เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง

ขณะที่ก่อนหน้านั้นเพียง 3 วัน คือ 25 เม.ย. 2549 อักขราทร จุฬารัตน พร้อมด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุด และชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โดยรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการ ชี้แนะให้พิจารณาว่าการที่ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน หลังยุบสภานั้นถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งทรงแสดงความเห็นว่าการเลือกตั้งโดยมีผู้สมัครพรรคเดียวไม่เป็นประชาธิปไตย

นอกจากนี้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน และมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า "เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ “การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิได้ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจทำอะไรได้ทุกอย่าง” และทรงแนะแนวทางให้ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 

ต่อมา 8 พ.ค.2549 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ เนื่องจาก ‘คูหาไม่ปิดลับ’ และการกำหนดวันเลือกตั้งไม่ถูกต้อง ขณะที่ กกต. ที่จัดการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 จำนวน 3 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, ปริญญา นาคฉัตรีย์ และ วีระชัย แนวบุญเนียร ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง และมีการยื่นฟ้องร้อง กกต. ต่อศาลอาญา ซึ่งต่อมาได้มีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา กกต.ทั้ง 3 คน 

จากนั้นการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ก็เกิดขึ้น และในที่สุด 30 พ.ค. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 3-5/2550 ยุบพรรคไทยรักไทยกับพรรคเล็ก ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี 

ผลจากการยุบพรรคครั้งทำให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด 111 คน ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ซึ่งย้ายเข้า ‘พรรคพลังประชาชน’ ก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้อีกครั้ง เมื่อ 23 ธ.ค.2550 ภายใต้กติการที่คณะรัฐประหารร่างขึ้น 

ทว่าก่อนจะครบ 1 ปี หลังการเลือกตั้ง อายุทางการเมืองของพรรคพลังประชาชนก็สิ้นสุดลง

สมัคร สุนทรเวช  สุรพงษ์ เฉลิม พลังประชาชน Hkg1477153.jpg
  • ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง , นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี , สมัคร สุนทรเวช แกนนำพรรคพลังประชาชน
‘เกิดใหม่-ต้องตายอีก’ ปลด ‘สมัคร’ พ้นนายกฯ ยุบพรรคพลังประชาชน

แม้จะเกิดการรัฐประหารเพื่อล้มอำนาจของรัฐบาลทักษิณไปแล้ว แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่สามารถกำหนดให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกฝ่ายตัวเองเป็นรัฐบาลได้ ที่สุดแล้วพรรคพลังประชาชนที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิม ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งโดยมี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี 

การก่อตัวระลอกสองของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และสมัคร สุนทรเวช ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ เนื่องจากเห็นว่า สมัคร ทำผิด รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด 

โดยชี้ว่า การที่สมัครรับจัดรายการโทรทัศน์ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยงหกโมงเช้า’ นั้นว่าเป็น ’ลูกจ้าง’ ตามความหมายในพจจานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 และการที่รายการใช้รูปใบหน้าของสมัครเป็นโลโก้ประจำรายการนั้น คือการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน

หลังจากสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคพลังประชาชนได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน แต่ถือเป็นนายกรัฐมตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารภเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลได้ เนื่องจากกลุ่มพันธมิตร เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลไว้ นอกจากนี้ยังมีการเข้ายึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิด้วย

ท้ายที่สุดในวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิฉัย ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี กรณียงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งนั่นส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที 

เหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น คือการย้ายขั้วทางการเมืองของกลุ่ม ‘เพื่อนเนวิน’ จากเดิมที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ได้ย้ายไปโหวตให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ซึ่งกรณีดังกล่าวมีข้อครหาว่า เกิดการจัดตั้งรัฐบาลภายในค่ายทหาร

โดยเนวินได้พา เพื่อน ส.ส. ในกลุ่มประมาณ 30 คนได้แยกตัวออกจากพรรคพลังประชาชน ไปจัดตั้งพรรคภูมิใจไทยขึ้น โดยรวมเอา ส.ส.กลุ่มเพื่อเนวิน  และ ส.ส.จากพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ถูกยุบมารวมกัน พร้อมทิ้งวลีเจ็บฝากไปยังทักษิณ ชินวัตร ผ่านรายการโทรทัศน์ว่า “มันจบแล้วครับนาย”

มีรายงานข่าวว่า มีการสมคบกับนายทหารที่กุมกำลังกองทัพในระยะนั้น เพื่อปรับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ได้มีการนัดหมายกันที่ปั๊ม ปตท.ใหญ่ริมถนนวิภาวดี โดยมีรถตู้นำเลขาธิการและแกนนำสำคัญของพรรคต่างๆ เข้าพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มูลนิธิป่ารอยต่อที่กรมทหารราบที่ 1 โดยมีภาพข่าวออกทางโทรทัศน์สาธารณะ และรายงานข่าวจากสื่อว่า มีการประชุมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในกรมทหารราบที่ 1 

การขึ้นเป็นนายกฯ ของอภิสิทธิ์ ได้นำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งในช่วงปี 2552 และปี 2553 ซึ่งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย กระทั่งเมื่อรัฐบาลหมดวาระ ได้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554  ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองเดิมทั้งจากไทยรักไทย พลังประชาชน ก็ยังคงได้รับชัยชนะอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ถูกทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 

นับแต่นั้นสังคมไทยได้อยู่ภายใต้ของเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ อย่างนานถึง 5 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ ส.ว. 250 คนที่มาจาการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งได้ 

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเพื่อเลือก ส.ส. เขต และนำคะแนนไปรวมกันเป็นเขตประเทศเพื่อหาสัดส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีของแต่ละพรรคการเมืองระบบการเลือกตั้งนี้ส่งผลโดยตรงต่อพรรคเพื่อไทย ทำให้ได้จำนวน ส.ส. ลดลง ส่วนพรรคขนาดเล็ก หรือพรรคขนาดกลางจะได้จำนวน ส.ส. มากขึ้น 

การแก้เกมทางการเมืองจึงเกิดขึ้น โดยใช้ยุทธวิธีแตกแบงค์พัน เกิดพรรคไทยรักษาชาติ โดยเป็นกลุ่มหนึ่งการเมืองที่เคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยเดิม เข้ามาขับเคลื่อนเพื่อมุ่งหวังว่าเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะในระบบเขต ส่วนไทยรักษาชาติจะสามารถเข้ามามีตำแหน่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อทำให้จำนวนที่นั่งในสภาเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้เกมที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเป็นผู้กำหนด 

ปรีชาพล-ทษช.-ไทยรักษาชาติ-ยุบพรรค
  • ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ และกรรมการบริหาร
ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แม้ไม่มีกฎหมายรับรองการยุบ แต่ศาลอ้างพระราชโอชการ

การเลือกตั้งปี 2562 ถือเป็นอีกหนึ่งเดิมพันสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้จะอยู่ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่พบว่ามีความพยายามอย่างยิ่งของฝ่ายประชาธิปไตยในการล้มการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. 

ผู้เล่นทางการเมืองในครั้งนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากทั้งสองฝั่ง เพื่อไทย ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ กับขั้ว พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ รวมพลังประชาชาติไทย นอกจากนี้ยังมีพรรคขนาดกลางอย่างชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทยที่จัดวางตัวเองเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย 

ขณะเดียวกันพบว่ามีการดึงตัวผู้เล่นทางการเมืองที่เรียกว่า ‘บ้านใหญ่’ ไปเข้าร่วมในพรรคพลังประชารัฐ เนื่องระบบการเลือกตั้งถูกออกแบบมาให้สำคัญกับระบบเขต 

ยุทธการแตกแบงค์พันประสบความล้มเหลว เพียง 17 วันก่อนเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากกรณีการเสนอชื่ีออุบลรัตน มหิดล (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ) เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

เรื่องนี้อันที่จริงถือเป็นแผ่นดินไหวทางการเมือง แม้อุบลรัตน จะสละฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว โดยมีสถานะเป็นเพียงสามัญชน แต่ในความรับรู้เข้าใจของประชาชนไทยยังคงเป็นลูกสาวของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 และเป็นพี่สาวของในหลวงรัชกาลที่ 10 

นับตั้งแต่วินาทีที่ปรากฏข่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะ ทั้งจากฝั่งอนุรักษนิยม และฝั่งก้าวหน้า ยังไม่ทันพ้นข้ามคืน ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ออกพระราชโองการ หัวใจสำคัญคือการระบุว่า “พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์...ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดใดในทางการเมืองได้” 

11 ก.พ. กกต. มีมติไม่รับรองรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมระบุว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ เข้าข่ายยุบพรรคหรือไม่ เพียงสองวันจากนั้น กกต. มีมติยื่นเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ

7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

ผลจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติทำให้มีจำนวนเขตเลือกตั้ง 100 เขตที่พรรคไทยรักษาชาติวางตัวผู้สมัครไว้หายไป แน่นอนว่าเขตเลือกตั้งเหล่านั้นไม่มีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย 

ดูเหมือนว่าฝ่ายเผด็จการกำลังจะได้แต้มต่อ แต่สมการที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น พรรคอนาคตใหม่ ได้ที่นั่ง ส.ส. จากการเลือกตั้งครั้งแรกทั้งหมด 80 คน แน่นอนว่ามากเกินกว่าที่ทุกฝ่ายประเมินไว้

กลายเป็นว่า ศัตรูที่ต้องกำจัดเป็นอันแรกสำหรับฝ่ายเผด็จการไม่ใช่เพื่อไทยอีกต่อไป เพราะสิ่งที่ตามมาจากนั้นคือการแก้เกม สกัดกั้นไม่ให้พรรคอนาคตใหม่ได้เติบโต ทั้งการกันธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกของพพรค ออกจากสภา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีการถือหุ้นสื่อ วี ลัค มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทต้นสังกัดของนิตยสาร Who  ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนดังในแวดวงต่างๆ ของเมืองไทย ประเด็นที่สำคัญคือ นิตยสารดังกล่าวตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อ วันที่ 15 ต.ค. 2559 ก่อนการเลือกตั้ง 2-3 ปี 

และในที่สุดก็ไปสู่ การยุบพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร-ยุบพรรค-อนาคตใหม่
  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ สั่งยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
ยุบพรรคอนาคตใหม่ - ดูด ส.ส. งูเห่า เสริมกำลังรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

หลังการเลือกตั้งปี 2562 แม้พรรคเพื่อไทย จะเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. ได้เป็นอันดับที่ 1  แต่พรรคพลังประชารัฐ สามารถพลิกเกมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยอาศัยการโหวตของ ส.ว. 250 คน และรวมรวบเสียงจากพรรคข้างกลาง และพรรคจิ๋วขนาด 1 ที่นั่ง ที่ได้อานิสงฆ์จากสูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส. อย่างไรก็ตามในช่วงแรก รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 2 ถูกเรียกว่าเป็น รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เนื่องจากมีจำนวนเสียง ส.ส. ฝั่งรัฐบาลห่างจากฝ่ายค้านน้อยมาก 

แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่สามารจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่พบว่าบทบาทหน้าที่ของฝ่ายค้านมีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ความพยายามในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการผลักดันกฎหมายวาระก้าวหน้าอื่นๆ 

ถึงอย่างนั้นก็ตามในทุกครั้งที่มีประเด็นสำคัญและส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล สิ่งที่พบคือ การโหวตสวนมติพรรคของ ส.ส.บางคนในฝ่ายค้าน จนเกิดเป็นกระแสข่าวขึ้นว่ามีการแลกเปลี่ยนสิ่งจูงใจกันเป็นรายครั้ง 

มากไปกว่านั้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีธนาธรให้พรรคกู้เงิน ผลของการยุบพรรคทำให้ ส.ส. ของพรรคที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมือง พ้นจากการเป็น ส.ส. ทันที หมายความว่าคะแนนเสียงของฝ่ายค้านถูกตัดทอนลงไป ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดปรากฏการณ์งูเห่าที่ ส.ส. อนาคตใหม่ย้ายไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ทันทีหลังจากพรรคถูกยุบ และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังถูกฝากเลี้ยงไว้ในฝ่ายค้าน

สิ่งที่ตามมาคือ กลไกรัฐสภาไม่สามารถที่จะพลิกเกมเปลี่ยนรัฐบาลได้ ทำให้รัฐบาลใช้วิธีการซื้องูเห่า และแจกกล้วยกับ ส.ส. ฝ่ายค้านมาตลอดระยะเวลา 4 ปี 

ขณะที่ก่อนจะเข้าสู่เลือกตั้ง 66 ในครั้งนี้ ประเด็นเรื่องการถือหุ้นสื่อถูกหยิบยกมาอีกครั้ง โดยมีการยืนเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบการถือหุ้น ITV ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยที่ถูกยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ และยุบพรรคในหลายกรณี 

เข็มทอง จุฬา  เสวนาศาล ยุติธรรม F-65DBA9FD0E14.jpeg
  • เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กฎหมายยุบพรรคมาจากไหน เกิดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์แบบใด

ขณะที่กระแสความนิยมในพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยพุ่งสูง ทั้งพรรคการเมืองฐานเดิมอย่างเพื่อไทย และพรรคการเมืองที่สร้างฐานมวลชนใหม่จากการดูดดึงมวลชนจากฝ่ายอนุรักษนิยม และกลุ่มพลังเงียบอย่างก้าวไกล ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมีทิศทางที่ลดลง กลไกการยุบพรรคการเมือง จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหลังจากการเลือกตั้งจบลง

จุดเริ่มต้นของแนวคิดว่าด้วยการยุบพรรคในทางสากลนั้น มีความแตกต่างจากการยุบพรรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างมาก ‘เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ อาจารย์คระรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเรื่อง ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย เผยแพร่ใน the101.world ระบุว่า 

รากที่มาของแนวคิดว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง คือ แนวคิดว่าด้วย militant democracy ซึ่งเข็มทอง แปลว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ทน’ โดยคำถามใหญ่ คือ เมื่อประชาธิปไตยคือการเคารพความเห็นต่าง ประชาธิปไตยต้องอนุญาตให้กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยหรือรัฐนั้น ดำเนินการจัดตั้งและสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

แนวคิด ‘ประชาธิปไตยไม่ทน’ ตอบชัดเจนว่า ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องอดทนอดกลั้นต่อแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวมันเอง พรรคการเมืองใดที่จะจัดตั้งและแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย ต้องสมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วย พูดอีกนัยหนึ่งคือ การใช้สิทธิทางการเมืองนั้นต้องใช้โดยสุจริต ไม่ใช่เจตนาใช้เพื่อทำลายระบบการเมืองที่ให้สิทธินั้น 

ในต่างประเทศ ตัวอย่างแนวคิดที่นำไปสู่การยุบพรรค ได้แก่ 

-แนวคิดชาตินิยมนาซีและคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี 

-แนวคิดคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต 

-แนวคิดรัฐอิสลามในตุรกี 

-แนวคิดแบ่งแยกดินแดนเคิร์ดในตุรกี 

-แนวคิดแบ่งแยกดินแดนบาสก์ในสเปน 

เป็นต้น

จะเห็นว่า อุดมการณ์การเมืองที่ถูกตีตราว่าอันตรายนั้น สัมพันธ์กับบริบทภูมิหลังของแต่ละรัฐ ว่าเคยผ่านประสบการณ์อย่างไรมา โดยหลักคือ ต้องปฏิเสธระบอบเสรีประชาธิปไตย และปฏิเสธรูปแบบปัจจุบันของรัฐ ที่สำคัญ คือ พรรคการเมืองที่จะถูกยุบนั้นต้องสมาทานอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นอุดมการณ์ของพรรค ไม่ใช่แค่ของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในพรรค

ทั้งหมดนี้คือที่มาของแนวคิดว่าด้วยการยุบพรรคในทางสากล ส่วนที่ทางของการยุบพรรคในประเทศไทย ถูกจัดวางไว้ในลักษณะใดนั้น คงไม่ยากเกินกว่าจะพิจารณา


อ้างอิงข้อมูลจาก : 

11 ปีดึง‘ศาล’เล่นการเมือง: โมฆะเลือกตั้ง ยุบพรรค ยึดทรัพย์ ถอดถอน ลิดรอนนโยบาย(ฟันจำนำข้าว) 

https://prachatai.com/journal/2017/08/72959

 ศาลรัฐธรรมนูญกับสภาวะวิกฤติทางการเมือง (2549-2562)

https://prachatai.com/journal/2019/02/81029

ศาล รธน. สั่งให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะ

https://ptp.or.th/archives/18272

ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก“สมัคร”ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม“ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน”

https://www.matichonweekly.com/featured/article_18922

คำต่อคำ: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

https://prachatai.com/journal/2019/03/81384

เลือกตั้ง 2562 : พระราชโองการ ร.10 "พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์...ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดใดในทางการเมืองได้"

https://www.bbc.com/thai/thailand-47173465

ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย

https://www.the101.world/party-dissolution-and-democracy/