ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของผู้ชุมนุม 'เยาวชนปลดแอก' ยังคงรอการตอบสนองจากรัฐบาล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่นำโดยนักศึกษาเยาวชน เป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดถึงปัญหาของอุดมการณ์ที่ถูกกำหนดโดยรัฐว่าไม่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม

การชุมนุมของประชาชนกว่านับพันคนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมาในชื่อ 'เยาวชนปลดแอก' นับเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 และยังเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่นับแต่ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมากทั้งบนโลกออฟไลน์และออนไลน์ และนำมาสู่ 3 ข้อเรียกร้องที่รอการตอบสนองจากรัฐบาล ได้แก่ การยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

ท่ามกลางเสียงเชียร์ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมจากฝ่ายที่รู้สึก 'ไม่ทนอีกต่อไป' กับบรรยากาศบ้านเมืองตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทั้งในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการจำกัดเสรีภาพ และเสียงวิจารณ์จากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่บอกว่าเป็น 'ม็อบมุ้งมิ้ง' ไปจนถึงความพยายามโยงว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุม

ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ได้พูดคุยกับ 'รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์' รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเรื่องการเมืองไทยร่วมสมัย ถึงความเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนปลดแอก โดยนักวิชาการจากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนชัดถึงการปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า 'อุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐ' หรือ 'State Imposed Ideology' ที่คนรุ่นใหม่ 'ไม่ซื้อ' แนวคิดที่ว่า สังคมไทย 'เป็นเลิศ' อีกต่อไป 

คนรุ่นใหม่ของไทยกำลังสู้“อุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐ” ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ‘อนุรักษนิยม’ ด้วยซ้ำ

กรอบความคิดมุมมองแบบอนุรักษนิยม (Conservative) และเสรีนิยม (Liberal) มักถูกนำมาใช้อธิบายถึงความเห็นที่แตกต่างของประชาชนต่อนโยบายและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม ไปจนถึงมุมมองของผู้คนต่อวัฒนธรรมในเกือบทุกสังคม

โดย 'รศ.เวียงรัฐ' ระบุว่าในนิยามสากล อนุรักษนิยม หมายถึง ฝ่ายคนที่มีแนวคิดกลับไปหาคุณค่าหลักๆ ที่มาจากสถาบันทางสังคมเก่าแก่ดั้งเดิมทางประเพณี ทางชุมชน หรือสถาบันที่เข้มแข็ง มีประวัติศาสตร์และสร้างความเจริญงอกงามให้กับสังคมมายาวนาน ซึ่งสถาบันเหล่านั้นในตะวันตกปัจจุบันน่าจะได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนาคริสต์ ความเป็นชนชาติ หรืออัตลักษณ์บางอย่างของประเทศ ซึ่งแตกต่างกับฝ่ายเสรีนิยมที่เน้นเสรีภาพและความยุติธรรม โดยไม่ต้องยึดมั่นว่าจะต้องรักษาหรือภักดีกับสถาบันทางสังคมเดิม ถ้าสถาบันทางสังคมเดิมไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของเสรีภาพและความยุติธรรม ก็สามารถปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป หรือแม้แต่ล้มล้าง โค่นล้มได้ แต่แนวคิดในทางสากลทั้งสองฝ่ายมีความคิดเหมือนกันคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้สังคมดีขึ้น

สัมภาษณ์อาจารย์เวียงรัฐ
  • รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในขณะที่พวกอนุรักษนิยมหันกลับไปหาสถาบันทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาจรรโลงให้สังคมดีขึ้นและก้าวไปข้างหน้าได้ มนุษยชาติยังมีอารยธรรมต่อไปได้โดยใช้สถาบัน ซึ่งเดี๋ยวนี้ในศตวรรษที่ 21 ก็มักจะพูดถึงครอบครัว ศาสนาคริสต์ ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมองว่าถ้าสถาบันทางสังคม การเมือง สังคม วัฒนธรรมไม่ตอบโจทย์แล้วก็เปลี่ยนแปลงได้

'รศ.เวียงรัฐ' ยังอธิบายว่า อนุรักษนิยมนั้นก็มีความแตกต่างกับสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐ” (State Imposed Ideology) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกทำให้สังคมคิดว่าเป็นอุดมการณ์ของสังคมเอง ที่อาจไม่จำเป็นต้องเป็นอุดมการณ์อนุรักษนิยมก็ได้ ในบางสังคมบางรัฐอาจเป็นอุดมการณ์สังคมนิยมหรือสันติภาพ ในบางรัฐอาจเป็นเรื่องทุนนิยมขึ้นอยู่กับยุคสมัย เช่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอง ญี่ปุ่นก็ส่งเสริมเรื่องเสรีนิยมเรื่องเสรีภาพและสิทธิเป็นอุดมการณ์รัฐ แต่ก็ชี้ว่าโดยส่วนมากอุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐมักจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมด้วย มิเช่นนั้นก็จะไปไม่รอด รัฐจะอยู่ไม่ได้

นักวิชาการรัฐศาสตร์มองว่า เมื่อกลับมามองที่สังคมไทยก็พบว่า สิ่งที่รัฐไทยพยายามสร้างคือความคิดที่ว่าสังคมไทยมี 'Superiority' หรือความเป็นเลิศเหนือกว่าสังคมอื่นๆ โดยเน้นเป้าหมายทำให้คนเชื่อเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หากแต่สิ่งที่ถูกละเลยในการสร้างอุดมการณ์รัฐไทยคือ เรื่องการพิทักษ์สิทธิตัวเองและการเคารพสิทธิของผู้อื่น

ในยุคสมัยหนึ่งรัฐอาจทำให้คนส่วนมากเชื่อในอุดมการณ์นี้ได้ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีหรือการเดินทางที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันง่ายขึ้น การได้เห็นพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในสังคมอื่นๆ ก็ทำให้คนจำนวนมากขึ้น 'ไม่ซื้อ' เรื่องแนวคิดความเป็นเลิศของสังคมไทย ซึ่งความคิดของคนกลุ่มหลังนี้ที่จำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ จะขัดแย้งกับความคิดของคนอีกกลุ่มซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ยังคงเชื่อและสนับสนุนอุดมการณ์ดังกล่าวที่กำหนดโดยรัฐ ถือเป็นกรอบคร่าวๆ ที่จะพออธิบายความเห็นต่างต่อปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีของผู้ชุมนุมและสนับสนุน 'เยาวชนปลดแอก' กับฝ่ายที่ยังสนับสนุนรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่เกิดขึ้น 

“สำหรับการเคลื่อนไหวของเยาวชนปัจจุบันนะคะ ดิฉันมองว่ามันคือการปฏิเสธอุดมการณ์รัฐ มันเริ่มมองเห็นแล้วว่าสิ่งที่รัฐพูดมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน คืออุดมการณ์ของรัฐจำนวนมากอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่นบอกว่าสังคมนิยมเป็นประโยชน์ให้คนเท่าเทียมกัน หรือเสรีนิยมเพื่อที่จะสร้างให้สังคมเจริญก้าวหน้า ในช่วงหนึ่งอุดมการณ์รัฐก็อาจเป็นประโยชน์ แต่ตอนนี้เหมือนคนเริ่มที่จะตระหนักว่าอุดมการณ์รัฐที่พยายามจะยัดเยียด สั่งสอน กล่อมเกลามาตั้งแต่เด็กมันไม่ตอบโจทย์ แล้วมันไม่เป็นความจริงอีกต่อไป มันมีแต่การรักษาอำนาจของคนที่อยู่ในรัฐ Status Quo ของคนที่มีอำนาจในรัฐเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็คือค่อนข้างจะเป็นเสรีนิยมในทางสากล ก็คือว่าสถาบันรัฐ สถาบันทางสังคมที่รัฐอ้างเนี่ยไม่ตอบโจทย์แล้ว มันควรจะมีการเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจรัฐตอนนี้ใช้มันไม่ตอบโจทย์ เพราะฉะนั้นมันก็เปลี่ยนแปลงได้ ก็แก้ไขได้” รศ.เวียงรัฐกล่าว

ม็อบมุ้งมิ้ง กองทัพบก

'เยาวชนปลดแอก' ความเคลื่อนไหวที่เป็นเสรีนิยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย?

'รศ.เวียงรัฐ' มองว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการเคลื่อนไหวปฏิเสธอุดมการณ์โดยรัฐ หากย้อนกลับไปใกล้ที่สุดคือเมื่อปี 2553 การชุมนุมของ 'คนเสื้อแดง' ที่จบลงด้วยการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐ หรือแม้แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็มีลักษณะของการปฏิเสธอุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ 'เยาวชนปลดแอก' นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องหลัก ความเข้าใจต่อกลไกทางการเมืองและโครงสร้างรัฐที่ค่อนข้างลึกซึ้งซึ่งถูกสะท้อนผ่านการปราศรัย ไปจนถึงวาระต่างๆ เช่น รัฐสวัสดิการ สมรสเท่าเทียม ที่ถูกพูดถึงในการชุมนุมครั้งนี้ซึ่งล้วนยึดโยงกับประเด็นสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสากลแล้ว ยังมีเรื่องของภาษาที่ถูกใช้สื่อสารของผู้ชุมนุม ที่สะท้อนให้เห็นความเป็นเสรีนิยมในระดับสูง

“อันนี้ส่วนตัวจากที่สังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของปี 53 ด้วย แล้วก็ศึกษาประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลา ปี 2519 ด้วย ในแง่ถ้าเทียบกับสเกลเป็นสากลคิดว่ากลุ่มของเยาวชนกลุ่มนี้มีความเป็นเสรีนิยมสูง คือลิเบอรัลสูง เขาบอกว่า Liberalism ในสเปกตรัมที่มันสุดดูจากอะไร คือดูจากภาษา คือความไม่สนใจแกรมม่า ไม่สนใจภาษาคือการปฏิเสธกฎเกณฑ์พื้นฐานที่สุด ฉะนั้นการที่เยาวชนหรือคนที่ไปประท้วงตอนนี้ใช้ภาษาวัยรุ่น ภาษากะเทย ภาษาที่เขารู้กันเองในกลุ่มของ Twitter ผู้ใหญ่ก็ต้องคอยตามว่ามันแปลว่าอะไร มันไม่ได้มีแกรมม่าแบบเดิมๆ มันไม่ได้มีการอ่านกลอนแบบเดิมๆ ที่ปี 53 เรายังเห็น ไม่มีการพูด Narrative หรือเรื่องเล่าแบบคนที่มีเมตตาต่อเรา เราเป็นไพร่ที่อำมาตย์ไม่เมตตา เขาไม่สนใจแล้ว 

ถ้าสังเกตมันคือสเปกตรัมที่ลิเบอรัลหรือเสรีนิยมมาก ค่อนข้างจะเอ็กซ์ตรีมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบกับการเคลื่อนไหวปี 53 ในขณะที่ 6 ตุลา 19 จะได้รับความคิดจากสังคมนิยมซึ่งมันต่อต้านกับรัฐโดยตรง อันนี้ก็เป็นความคิดเสรีนิยมที่มันต่อต้านกับรัฐโดยตรง เพราะรัฐไม่ได้มีนโยบายอะไรที่ชัดเจน แต่พยายามยัดเยียดความคิดแบบอุดมการณ์ที่รัฐกำหนดมาอย่างยาวนาน แล้วมันไม่เป็นความจริงและเขาเริ่มรู้ มันมีการปฏิเสธแบบฟอร์ม แบบแผนความเป็นสถาบันดั้งเดิม ความภักดีที่มีต่อสังคมที่รัฐสร้าง มันจึงเห็นความขัดแย้งของคนที่ประท้วงกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราเรียกว่าอนุรักษนิยมที่เขารับไม่ได้ตั้งแต่ภาษา ตั้งแต่ทัศนะ หรือการที่ชาเลนจ์ทุกๆเรื่อง แม้แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด หรือเรื่องที่เราคิดว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางสังคมทางประเพณีของประเทศเราก็ถูกท้าทายมาก และท้าทายมากกว่าปี 53 ด้วยซ้ำ” 

ชุมนุม-แฟลชม็อบ เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แม้จะมีลักษณะของความเป็นเสรีนิยมที่หลุดออกไปจากกรอบที่สังคมไทยเคยนึกถึง แต่ 'รศ.เวียงรัฐ' มองว่านี่ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อการสร้างแนวร่วม เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ของโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นสากลมากขึ้นเรื่อยๆ 

“อย่างที่เราเห็นดารานักร้อง บางคนออกมาให้กำลังใจซึ่งเรานึกไม่ถึง เพราะว่าในขณะที่ปี 53 เนี่ยยังพูดในภาษาของคนชนบท พูดในภาษาของผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีความผูกพันกับพรรคการเมืองกับประชาธิปไตยการเลือกตั้ง ในขณะที่ปัจจุบันมันพูดในภาษาที่เป็นสากลกว่า” 

ขณะเดียวกันก็มองว่า ข้อเรียกร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะเป็นจุดร่วมที่สามารถดึงคนให้สนับสนุนมากขึ้น เพราะเราทุกคนล้วนเผชิญกับปัญหาความอิหลักอิเหลื่ออันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ชัดเจนที่สุดคือกรณีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 

“คิดว่าคนจำนวนมากก็เห็นถึงความอิหลักอิเหลื่อ ถ้าไม่เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ทำลายประชาธิปไตยอย่างมากแล้วเนี่ย ก็เห็นความอิหลักอิเหลื่อของผลการเลือกตั้งที่ออกมา...คือคนเห็นถึงความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการให้อำนาจสถาบันองค์กรอิสระชัดเจนว่า องค์กรอิสระมาเปลี่ยนคะแนนเสียงของประชาชน คิดว่าคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ” 

ม็อบนี้ต้องมีการจัดองค์กร 

แม้ในแง่การสร้างแรงกระเพื่อมและแนวร่วมในสังคมหลังการชุมนุม 'เยาวชนปลดแอก' ไม่น่าจะเป็นปัญหาในมุมมองของ 'รศ.เวียงรัฐ' แต่สิ่งที่นักวิชาการผู้ศึกษาด้านการเมืองไทยร่วมสมัยมองว่าเป็นอีกปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการเคลื่อนไหว คือการจัดองค์กร ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นกับการชุมนุมที่นำโดยคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ 

“การเคลื่อนไหวของรุ่นนี้ถ้าฟังจากปราศัยเขารู้ลึก ไปไกล แต่ว่าการรู้ลึก ไปไกลเนี่ยหมายความว่าเขาเป็นเสรีนิยมที่สุดขั้ว เสรีนิยมที่มันปฏิเสธทุกอย่าง รวมถึงการจัดองค์กร ปฏิเสธเรื่อง Organization เรื่องโครงสร้าง เรื่อง Hierarchy เรื่องลำดับชั้นไปด้วย พอปฏิเสธการลำดับชั้น การนำการตาม การบริหารองค์กรมันจึงยากแล้ว เพราะพอในโลกความเป็นจริงคุณต้องต่อสู้กับรัฐที่จัดองค์กร มันต้องต่อสู้กับนักการเมือง พรรคการเมืองแบบอนุรักษนิยมที่มีการจัดองค์กร

คืออาจไม่ใช่องค์กรแบบเดิมที่มีแกนนำ กรรมการอะไรแบบนี้ แต่เขาต้องมีการประสานกันแล้วก็รู้ว่าใครเป็นคนประสาน แล้วก็รู้ว่าจะนัดเจอกันเวลาไหน ไม่ใช่ว่าไม่มีการจัดองค์กร ไม่มีการประสานงาน คือทุกแห่งมันต้องมี Management มี Organization จะจับมือกับใครก็ได้ หรือจะประนีประนอมกับคอนเซอร์เวทีฟบางส่วนอันนั้นก็เป็นเรื่องของเขา แต่เขาต้องให้ชัดเจน คือไม่เช่นนั้นมันจะเป็นกระแสอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียแล้วมันไม่กระทบกับโครงสร้างสังคมที่มันมีการจัดองค์กรน่ะ คือรัฐ ระบบราชการ ทหาร พรรคการเมือง หรือหน่วยงานต่างๆ สถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคมหรือศาสนาอะไร ทุกแห่งมันจัดองค์กรหมด แต่การที่เราสู้กับเขาเพื่อที่จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างอะไรก็ตาม เราก็ต้องจัดองค์กรด้วย”

ม็อบมุ้งมิ้ง กองทัพบก

6 ปีอันสูญเปล่าของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย

แม้ในด้านหนึ่งการรัฐประหารปี 2557 และการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 อาจถูกมองเป็นชัยชนะของฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ 'รศ.เวียงรัฐ' ก็มองว่ากว่า 6 ปีที่ผ่านมา เป็นความเสียเปล่าของฝ่ายอนุรักษนิยมของไทย หากพิจารณาจากจุดที่ว่า การหาทางออกให้กับสังคมจำเป็นต้องหาฉันทามติร่วมระหว่างทุกฝ่าย เนื่องจากไม่เห็นความพยายามหาเหตุผลและเสนอทางเลือกใหม่ๆ จากฝ่ายอนุรักษนิยม 

“มันยากเนอะ มันยากในแง่ที่อุดมการณ์คอนเซอร์เวทีฟไม่พยายามหาเหตุผล ไม่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ๆ แล้วจริงๆ สังคมก็ให้โอกาส 5-6 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าสังคมส่วนที่ไม่ใช่ก้าวหน้ามาก ไม่ใช่ส่วนที่โปรประชาธิปไตยมากๆ ก็ยินยอมที่จะให้มีรัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลทหารเพื่อที่จะมีการประนีประนอม อาจจะมีการเสนอทางออกอะไร มันก็เท่ากับว่าสังคมให้โอกาสละ 5-6 ปี แต่ว่าไม่มีการปรับตัวอะไรเลย เพราะฉะนั้นมันเห็นแนวโน้มว่า 2 ฝ่ายมันต้องสู้กันแบบอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช้เหตุผล แต่จะใช้ข้ออ้างความมั่นคงของรัฐ ใช้กำลังใช้อะไรมากขึ้นเรื่อยๆ”

สัมภาษณ์อาจารย์เวียงรัฐ

ส่วนสาเหตุที่มีผลไม่น้อยที่ทำให้อนุรักษนิยมของไทยปรับตัวได้ช้า 'รศ.เวียงรัฐ' มองว่าเป็นเพราะกฎหมายและกลไกของรัฐนั้นเอื้อประโยชน์ให้กับความคิดแบบเดิมๆ จึงไม่จำเป็นสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต้องหาเหตุผลมาถกเถียง

“แต่ทีนี้ในบ้านเราเนี่ยมันไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ไม่ต้องหาเหตุผลมาก เพราะว่ารัฐใช้กฎหมายหรือการปฏิบัติของกฎหมาย เช่น ตำรวจ ศาล ทหาร ที่มีหน้าที่ที่จะใช้กฎหมาย ใช้ไปในทางที่เป็นอุดมการณ์ของรัฐอยู่แล้วในการตีความอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง หรือในการตีความว่าใครถูกใครผิด ก็คือมองแบบอนุรักษนิยมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องปรับตัวอะไรมากก็เพราะว่าอำนาจรัฐ กลไกของรัฐมันเอื้อประโยชน์ให้กับความคิดแบบเดิมๆ โดยไม่ต้องหาเหตุผลมาถกเถียงในโลกชองปัญญาชน”

และเมื่อมองไปถึงการตอบโต้ความเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนที่อาจเกิดขึ้นจากฝ่ายอนุรักษนิยม นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า ยังมีแนวโน้มสูงที่ฝ่ายอนุรักษนิยมที่เชื่ออย่างหนักแน่นในอุดมการณ์โดยรัฐจะใช้ข้ออ้างว่าการเคลื่อนไหวของเยาวชนมีความเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐมาเป็นข้ออ้างโจมตี สกัดและขัดขวางการเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนแบบที่เคยทำมากับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ในอดีต แม้นี่จะเป็นข้ออ้างที่ 'รศ.เวียงรัฐ' มองว่าล้าสมัยและไม่สมเหตุผลก็ตาม 

"เชื่อว่าในที่สุดเขาก็จะอ้างอะไรแบบเดิม เพราะว่าทางฝ่ายคนที่สนับสนุนผู้ที่มีอำนาจรัฐเขาไม่ได้พัฒนามาเป็นคอนเซอร์เวทีฟแบบสากล เพราะฉะนั้นเขาจะไม่มีเหตุผลในการอ้างที่น่าสนใจ หรือว่าสมเหตุสมผล หรือกลับมามองนิดนึงไหมว่าให้ใช้สถาบันทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมที่เรามีอยู่ในการเปลี่ยนแปลงไหม คือเขาไม่ได้พูดอันนั้น เขาพูดแค่ว่าสังคมไทยน่ะดีที่สุดแล้ว รัฐบาลไทยจัดการดีที่สุด รัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว หรือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์ร่วมกัน หรือใช้อะไรก็ตามที่เป็นข้ออ้างแบบเดิมๆ เดี๋ยวคอยดูอาจจะใช้อีก แล้วเราก็จะรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อว่าในยุคนี้แล้วยังใช้อยู่ แต่เดี๋ยวคอยดูเขาจะใช้แบบนี้ คิดว่าเขาไม่เปลี่ยน แล้วก็มันไม่ชอบธรรมอยู่แล้วสำหรับผู้ชุมนุม สำหรับคนที่สนับสนุนผู้ชุมนุม ข้ออ้างแบบนี้มันไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว”  รศ.เวียงรัฐ กล่าว

หมายเหตุ - พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า "อนุรักษนิยม" [อะนุรักสะนิยม, อะนุรักนิยม] น. อุดมคติทางการเมือง การเศรษฐกิจ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มไปในทางต้านทานการเปลี่ยนแปลง โดยยึดถือสนับสนุนระเบียบที่ตั้งมั่นอยู่แล้ว.

แม่คำของ "อนุรักษนิยม" คือ  อนุรักษ- อนุรักษ์  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง