ไม่พบผลการค้นหา
72 ปี แห่งการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารโดยคณะทหารนอกประจำการนำโดย ‘พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ’ โค่นล้มรัฐบาลสายคณะราษฏร ที่มี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ได้เรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญกับ 9 เรื่องที่ควรรู้ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าของรัฐประหาร พ.ศ.2490
  • 1.

เป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ได้บังคับใช้ ก่อนถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2490 ภายหลังการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายซึ่งยกร่างโดยการจัดทำของคณะราษฎร

  • 2.

คือระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 

การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในสมัยแรก ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2489 ซึ่งเกิดขึ้นหลังนายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2489 หลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8

ส่วนนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2490 และพ้นจากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 หลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ  และยังเป็นการปิดฉากนายกรัฐมนตรีที่มาจากสายคณะราษฎร

ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐประหาร 526576482795855_n.jpg

(พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกคณะรัฐประหาร 2490 โค่นล้มลง - ภาพ เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

  • 3.

3 อำนาจ - รัฐประหารครั้งที่ 3 

รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เป็นการร่วมมือของ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์ - กษัตริย์นิยม เพื่อโค่นล้มรัฐบาลสายพลเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจของคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส การชิงอำนาจนำครั้งนี้จึงเกี่ยวพันกับ 3 อำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การรัฐประหาร 2490 ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 3 ในรอบ 14 นับแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

สมัยที่ 3 ที่นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 

  • 4.

04.00 น. วันที่ 9 พ.ย. 2490 คือการวางแผนนัดหมายกระทำการรัฐประหาร วันเวลาดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็น ‘วันมหาพิชัยฤกษ์’ ให้ลงมือทำการโดยเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ และส่งทหารไปจับกุมผู้นำสำคัญ พร้อมทั้งประกาศยึดอำนาจ ล้มรัฐธรรมนูญและรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วตั้งรัฐบาลรักษาการพร้อมทั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วันเวลาดังกล่าวที่จะนัดหมายลงมือ เป็นการใช้วิชาโหรตรวจดวงชะตาของปรีดี พนมยงค์ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผบ.ทบ. และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ว่า กำลังตกต่ำ หากลงมือรัฐประหารในเวลา 04.00 น. วันที่ 6 พ.ย. 2490

แต่ที่สุด คณะรัฐประหารเปลี่ยนเวลามาลงมือรัฐประหารเร็วขึ้นเป็นคืนวันที่ 8 พ.ย. 2490 เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุมเสียก่อนหากความลับรั่วไหล

คณะรัฐประหาร 2490 มีคณะราษฎรเดิมอยู่ 4 คน เกี่ยวข้องด้วย คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้รับเชิญมาเป็นหัวหน้าคณะ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท พ.อ.น้อม เกตุนุติ โดยทั้งหมดไม่ได้เป็นตัวแทนผลักดันแนวคิดของคณะราษฎรอีกต่อไป

  • 5.

เวลา 05.00 น. วันที่ 8 พ.ย. 2490 พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ทราบถึงแผนการเคลื่อนไหวเพื่อทำการรัฐประหาร จึงมีคำสั่งให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ต้องชิงลงมือก่อการให้เร็วขึ้น 1 วัน โดยเริ่มเคลื่อนไหวยึดอำนาจในเวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พ.ย. 2490 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 พ.ย. 2490 

5 นายกรัฐมนตรีจากมรดกของการรัฐประหาร 2490 ทำให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490 ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ถึง 5 คน คือ ควง อภัยวงศ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

  • 6.

6 เงื่อนไขรัฐประหาร 2490

1.รัฐประหารเพื่อประเทศชาติ

2.รัฐประหารล้มรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ เพื่อสถาปนา การเทิดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประพฤติตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

3.รัฐประหารเพื่อเชิดชูเกียรติของทหารบกที่ถูกย่ำยีให้ฟื้นกลับคืน

4.รัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

5.สืบหาผู้ปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและนำตัวฟ้องร้องตามกฎหมาย และ

6.รัฐประหารเพื่อขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ 

6 พ.ย. 2490 การประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจแล้วว่า พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จะลาออกจากนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 พ.ย. 2490 โดยให้ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยฝ่ายปรีดี เชื่อมั่นว่าการตั้ง พล.อ.อดุล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในกลุ่มทหารบกได้และจะจับกุมนายทหารที่วางแผนรัฐประหารได้เสร็จสิ้นก่อนเช้าวันที่ 9 พ.ย. 2490

6 พ.ย. 2490 ยังเป็นวันที่ฝ่ายคณะรัฐประหารนัดประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก กำลังที่คณะรัฐประหารมีอยู่ในมือคือ กรมทหารราบที่ 1 ของ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์

รัฐประหาร 2490 633670957982_n.jpg

(เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 - ภาพ เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

  • 7.

7 พ.ย. 2490

คืนวันที่ 7 พ.ย. เวลา 21.00 น พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการการกุศลชื่อ “เมตตาบันเทิง” ขึ้นที่สวนอัมพร เป็นงานเต้นรำการกุศล กิจกรรมสำคัญในคืนนั้น พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และนายควง อภัยวงศ์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ร่วมกันนั่งรถสามล้อคันเดียวกัน โดยมี โชติ คุ้มพันธุ์ ส.ส.พระนคร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ขี่สามล้อวนไปรอบๆเวทีเต้นรำที่สวนอัมพร ภาพดังกล่าวได้สร้างความดีใจให้กับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ท่ามกลางความสนุกสนานและความหวังที่จะประนีประนอม ต่อมา พล.ร.ต.ถวัลย์ ได้รับรายงานว่ามีทหารจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนกำลังทหารตรงมาจะจับกุม นายกรัฐมนตรีได้ปลีกตัวออกจากงานทันที จากนั้น การรัฐประหารก็ได้เริ่มต้นขึ้น

  • 8.

8 พ.ย. 2490

เป็นวันที่คณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นคณะทหารนอกประจำการ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สำเร็จ 

คณะรัฐประหาร มีผู้ร่วมก่อการยึดอำนาจ ประกอบด้วย นายทหารนอกประจำการ 12 คน นำโดย จอมพล ป. พิบูลงสคราม

นายทหารบกประจำการ 38 นาย นำโดย พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์

นายทหารเรือประจำการ 2 คน นายทหารอากาศประจำการ 2 คน ตำรวจ 5 คน ข้าราชการพลเรือน 9 คน  

ส่วนอื่นๆ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการบำนาญ อาชีพส่วนตัว จำนวน 5 คน

เลข 8 ยังเป็นตัวเลขลำดับนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ถูกรัฐประหารโดยคณะรัฐประหาร หลังขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ได้เพียง 5 เดือนเศษ และได้วางแผนว่าจะลาออกจากนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 พ.ย. 2490 แต่สุดท้ายก็ถูกกระทำการรัฐประหารก่อน

จอมพล ป พิบูลสงคราม ปรีดี ควง 1200.jpg

(สายสัมพันธ์คณะราษฎร ครม.จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2481 ก่อนที่คณะราษฎรจะแตกหักกันในที่สุด)

  • 9.

9 พ.ย. 2490 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) บังคับใช้ มี 98 มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ถูกร่างขึ้นจากตัวแทนทางการเมือง 2 กลุ่มสำคัญ คือ “คณะรัฐประหาร” กับ กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม แต่แนวความคิดของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตรินิยมมีอิทธิพลมากกว่าคณะทหาร โดยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงจากหลักการของรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475 ที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ให้ กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถวายอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์

9 พ.ย. 2490 ยังเป็นวันประชุมของคณะรัฐประหารชั้นผู้ใหญ่ มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นประธานเพื่อพิจารณาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยที่ประชุมเห็นว่า นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้อภิปรายทั่วไปโจมตีรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ในรัฐสภาให้ราษฎรฟังทั่งประเทศได้ทราบความบกพร่องของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ที่ประชุมจึงลงมติเอกฉันท์ให้นายควง เป็นนายกรัฐมนตรี

9 เรื่องดังกล่าว ถือเป็น 9 เรื่องที่ต้องรู้อย่างยิ่งที่หลบซ่อนอยู่ในตำนานประวัติศาสตร์ช่วงชิงอำนาจการเมืองไทย ผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ที่เป็นต้นแบบให้ผู้นำกองทัพในยุคหลังจากนั้นเป็นต้นมา นำมาใช้โค่นล้มรัฐบาลในแต่ละยุคจนถึงปัจจุบัน!

รัฐประหาร 2490 2_775968382827765_8800727669877506048_n (1).jpg


ข่าวที่เกี่ยวข้อง