ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล’ เสนอปรับ พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับสร้างระบบเยียวยาถ้วนหน้า 3 พันบาทต่อเดือนให้อายุเกิน 18 ปีทุกคนไม่ต้องคัดกรอง - รื้องบฯ ปี 64 ตัดงบสัมนา-ดูงานออกได้เงินเพิ่ม 4 พันล้านฟื้นฟูประเทศ

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุถึงพระราชกำหนด (พ.ร.ก) เงินกู้ 3 ฉบับที่รัฐบาลเตรียมนำใช้เยียวยาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบว่า สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือสัดส่วนของการจัดสรรงบที่ไม่ได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนของประชาชน เพราะถ้าพิจารณาจากมาตรการที่รัฐประกาศออกมาแล้วว่าจะใช้เงินจากวงเงิน 555,000 ล้านบาทสำหรับช่วยเหลือเยียวยา ประกอบด้วย 1) มาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบ 5,000 บาทต่อเดือน 16 ล้านคน คิดเป็นงบประมาณ 240,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้ 170,000 ล้านบาท

และ 2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 10 ล้านราย วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพียง 2 มาตรการนี้ก็ใช้เม็ดเงินไปแล้ว 320,000 ล้านบาท เท่ากับจะเหลือเงินเพื่อใช้ในการเยียวยาอีกเพียง 235,000 ล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า พรรคก้าวไกลขอเสนอวิธีการจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อชีวิตคนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อรักษาชีวิตคนจากพิษโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจได้ในเวลาเดียวกัน ประกอบด้วย 

1) เพิ่มงบเยียวยาประชาชนจาก 550,000 ล้านบาท เป็น 900,000 ล้านบาทเพื่อการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า และให้มีมาตรการระยะที่ 2 สำหรับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเงิน 3,000 บาท/เดือน เงินช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 1,000 บาท/คน ที่จะใช้งบประมาณราว 504,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 100,000 ล้านบาท ใช้สำหรับการสมทบค่าจ้างให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถตรึงการจ้างงาน และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และการให้มีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น ธนาคารอาหาร เป็นต้น

2) เพิ่มงบสาธารณสุขจาก 45,000 ล้านบาท เป็น 100,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มมาตรการสนับสนุนเมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายล็อก เช่น แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สนับสนุนห้างร้าน SME ในการปรับตัว รวมไปถึงสำรองงบให้เพียงพอสำหรับการจัดหาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสำหรับประชาชนไทยทุกคน เมื่อการวิจัยวัคซีนสำเร็จ

3) ให้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ใหม่ ตัดงบอบรมสัมมนา ดูงานต่างประเทศ ตัดงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ทบทวนสัญญาก่อหนี้ผูกพันเดิม ระมัดระวังก่อหนี้ผูกพันใหม่ จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า 400,000 ล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญาระบุอีก ว่าเป็นที่น่าเสียดายที่หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฏรที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ระบุไว้ มีเพียงการส่งรายงานการกู้เงินให้เราดูภายใน 60 วันหลังจากสิ้นปีงบประมาณ ทั้งๆ ที่ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับก่อนๆ รัฐสภาต้องเห็นชอบตั้งแต่กรอบการใช้จ่ายก่อนที่จะดำเนินการด้วยซ้ำ พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน 1 ล้านล้านบาทนี้อย่างใกล้ชิด 

ส่วนกรณีที่เป็น พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาทนั้น น.ส.ศิริกัญญาระบุว่าพรรคก้าวไกลมีข้อห่วงกังวลอยู่สามประเด็นหลัก ประการแรก ถ้าธนาคารพาณิชย์เน้นจะรักษากำไรของตัวเอง และให้แต่ลูกหนี้รายใหญ่ ก็จะมีบริษัทที่ได้รับประโยชน์ 5,000 รายเท่านั้น ถ้าไม่มีการกันโควตาให้ SME รายเล็กรายน้อย บทเรียนจากซอฟต์โลนก้อนแรกจาก ธ.ออมสิน คือ รายเล็กรายน้อยที่เดือดร้อนและขาดสภาพคล่องถูกปฏิเสธหมด แต่บริษัทที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยที่ยังไม่กระทบมากกลับได้เงินกู้จากธนาคารโดยไม่ได้ร้องขอ

ประเด็นที่สอง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ยังไม่มีการช่วยเหลือในการลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ลูกหนี้ยังคงมีภาระเพิ่มเติมในภายหลัง ทาง ธปท.จึงควรจะให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราวด้วย และสุดท้าย ควรจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนที่ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ย ต้องรักษาระดับการจ้างงานไว้เท่ากับก่อนวิกฤตด้วย

ส่วนกรณี พ.ร.ก.อุ้มตราสารตลาดหนี้นั้น พรรคก้าวไกลไม่เห็นแย้งในหลักการ เพราะผู้ถือตราสารหนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นรายย่อยที่ถือทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านกองทุนต่างๆ จึงควรมีมาตรการรองรับไม่ให้ราคาของหุ้นกู้เอกชนมีความผันผวน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาในรายละเอียดกฎเกณฑ์ของการรับซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเสียเปรียบหรือไม่ โดยมูลค่าความเสียหายที่กระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบนั้นมีวงเงินสูงถึง 40,000 ล้านบาท จึงต้องมีการติดตามตรวจสอบกระบวนการคัดเลือก และการลงทุนอย่างใกล้ชิด