ไม่พบผลการค้นหา
สิงคโปร์ทุ่มงบรวม 410 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9,300 ล้านบาท) เพื่อยกเครื่องและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ รวมถึงวิจัยการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำซึ่งเป็นผลมาจากโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนของภูมิอากาศ ป้องกันไม่ให้ประเทศจมอยู่ใต้น้ำ

วันที่ 17 กรกฎาคม มาซากอส ซัลกิฟลี รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำสิงคโปร์ ประกาศว่าสิงคโปร์จะลงทุน 400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9,090 ล้านบาท) เพื่อยกเครื่องทางระบายน้ำในช่วง 2 ปีข้างหน้า และอีก 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 227 ล้านบาท) เพื่อศึกษาการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นเวลา 5 ปีนับจากนี้

การปรับปรุงทางระบายน้ำและวิจัยเป็นเพียงสองมาตรการจากมาตรการจำนวนมากเพื่อรับมือไม่ให้ประเทศเกาะแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำทะเล

อย่างไรก็ตาม ซัลกิฟลีกล่าวว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เพียงลำพัง ทุกคนต้องมีส่วนช่วยทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อวิถีชีวิต

เขายกตัวอย่างสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดแอลอีดี หรือลดการใช้ถุงพลาสติก

"ทุกความพยายามมีผล แม้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครเพียงคนเดียว แต่อย่าดูเบาผลกระทบที่สะสมกันของการกระทำเล็กๆ" ซัลกิฟลี กล่าวในงานสัมมนาพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม งานประจำปีที่มีพาร์ตเนอร์ต่างๆ ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ มาร่วมค้นหาไอเดียและร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ซัลกิฟลี ชี้ถึงภัยคุกคามขั้นสูงสุดต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยอิงจากสภาพอากาศสุดโต่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีนี้ เช่น ฝรั่งเศสมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 45.9 องศาเซลเซียส ออสเตรเลียเกิดภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตธัญพืชลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ และพายุฝนในญี่ปุ่นก็ทำให้ต้องสั่งอพยพเนื่องจากน้ำท่วมอย่างหนักและดินถล่ม สิงคโปร์เองก็มีอุณหภูมิสูงถึง 34 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศในทศวรรษ 1960 อยู่เที่ 27 องศาเท่านั้น

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมฯ สรุปว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ภัยที่เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวกัน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นอาการของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์เพื่อการวิจัยภูมิอากาศสิงคโปร์ แห่งอุตุนิยมวิทยาสิงคโปร์ เผยว่าหากค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเล คลื่น และน้ำขึ้นน้ำลงสูงขึ้นพร้อมกัน ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปัจจุบัน 4 เมตร จมพื้นที่ชายฝั่งไว้ใต้ทะเล ขณะที่แผ่นดินราว 30 เปอร์เซ็นต์ของประเทศสูงเพียง 5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย

"ถ้าเราจินตนาการเผื่อไปหน่อย ในกรณีสุดโต่งที่เกิดได้ยากที่พายุโซนร้อนเกิดขึ้นในทะเล ทำให้เกิดคลื่นที่เราไม่สามารถกันได้ แล้วก็เกิดพายุฝนทางฝั่งแผ่นดิน ทำให้มีน้ำฝนที่ระบายออกไปไม่ได้ หากสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เราอาจจะพบกับ'พายุสมบูรณ์แบบ'" ซัลกิฟลีกล่าวพร้อมชี้ว่าแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดได้ยากในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ไกลเกินจริงในอนาคต

"เราต้องลงมือทำตั้งแต่ตอนนั้น มิเช่นนั้นเราอาจต้องพบกับภัยคุกคามขั้นสูงสุดต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ... จุดจบของชีวิตปกติสุข"

ในส่วนของโครงการวิจัยระดับน้ำทะเลแห่งชาติ จะดำเนินการในช่วง 5 ปีนับจากนี้ โครงการนี้จะทำให้สิงคโปร์คาดการณ์ระดับน้ำที่จะสูงขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น โดยหลังการศึกษาเสร็จสิ้นจะทำให้สิงคโปร์สามารถตัดสินใจได้ว่าจะรับมืออย่างไร ตั้งแต่การสร้างกำแพงกั้นน้ำในบริเวณที่แผ่นดินต่ำไปจนถึงการทำให้บางส่วนของเมืองลอยน้ำได้

สำนักงานโครงการวิจัยภูมิอากาศศาสตร์จะถูกตั้งขึ้นในปีหน้า โดยมุ่งศึกษา 5 เรื่อง ได้แค่ การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำท่วม ผลกระทบของโลกร้อนต่อสุขภาพมนุษย์และภาคพลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร และการวิจัยประเด็นเชื่อมโยง

ที่มา: Strait Times / CNA / Bloomberg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: