นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจไทยและเป็นกลุ่มลูกค้าที่กรุงศรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นกรุงศรีจึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การยืดระยะเวลาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย การปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารออมสิน
นอกจากนี้ กรุงศรียังมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามโครงการช่วยเหลือลูกค้าจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยล่าสุดกรุงศรีให้สินเชื่อดังกล่าวแก่ลูกค้าผู้ประกอบการมากกว่า 4,500 ราย เป็นจำนวน 9,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินปัจจุบันที่ ธปท.ให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ (กว่า 90,000 ล้านบาท) นับเป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ให้สินเชื่อโครงการดอกเบี้ยต่ำออมสินจำนวน 8,800 ล้านบาทในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่กรุงศรีได้ให้การสนับสนุนนี้สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ล่าสุดที่กรุงศรีได้สำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อทราบสถานการณ์ที่ลูกค้าเผชิญและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อเร่งนำเสนอมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อย่างต่อเนื่องได้ตรงจุดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการร้อยละ 70 คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะวงเงินสินเชื่อใหม่และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ SME จำนวน 297 ราย ยังพบว่าผู้ประกอบการร้อยละ 89 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่วนใหญ่มีรายได้ปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และผู้ประกอบการร้อยละ 43 ไม่ได้มีแผนรับมือผลกระทบในทันที ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 26 กำลังดำเนินการขยายธุรกิจในช่องทางออนไลน์ และร้อยละ 17 ได้ดำเนินการปรับลดต้นทุนเพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าว
นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 67 ปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบจัดการภายในองค์กรและการพัฒนาโมเดิลธุรกิจใหม่ให้เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น และผู้ประกอบการร้อยละ 53 ได้มีการใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงในด้านการขายและกลยุทธ์การตลาดผ่านทางดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง รวมทั้งการขยายธุรกิจไปยังอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) และแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
นอกจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของแบงก์ชาติที่ยังเปิดดำเนินอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ กรุงศรียังคงมุ่งเน้นการเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้า SME ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการต่างๆ ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเนื่องจากลูกค้ามีการใช้การรับ-จ่ายเงินทาง mobile banking หรือ internet banking มากขึ้น หรือ การประกันภัยสินเชื่อทางการค้า ช่วยในการบริหารความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด เป็นต้น
พร้อมกันนี้กรุงศรียังได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการจัดทีมผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (RM) ติดต่อพูดคุยเพื่อติดตามสถานการณ์กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนและนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธปท.เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2563 พบว่า มีสินเชื่ออนุมัติแล้ว 90,499 ล้านบาท มีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อ 56,312 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 1.6 ล้านบาท
โดยเอสเอ็มอีขนาดกลาง (วงเงินสินเชื่อ 20-100 ล้านบาท) เป็นกลุ่มที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อมากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 37.3 หรือคิดเป็นเงิน 33,766 ล้านบาท ตามมาด้วยเอสเอ็มอีขนาดใหญ่( วงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติสินเชื่อสัดส่วนร้อยละ 36.8 หรือคิดเป็นเงิน 33,289 ล้านบาท ส่วนเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (วงเงินสินเชื่อ 0-20 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติสินเชื่อร้อยละ 25.9 หรือคิดเป็นเงิน 23,444 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :