ไม่พบผลการค้นหา
'ทวี สอดส่อง' รมว.ยุติธรรม เปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ 'การเยียวยา – เชื่อมช่องว่างและเร่งการเข้าถึง'

วันนี้ (25 ก.ย.2567) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รับมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “การเยียวยา – เชื่อมช่องว่างและเร่งการเข้าถึง” ณ EACAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 

S__15491193.jpg

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกล่าวต้อนรับทุกท่านในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 6 “การเยียวยา – เชื่อมช่องว่างและเร่งการเข้าถึง” ซึ่งเป็นการจัดขึ้นด้วยความร่วมมือกันของ 8 หน่วยงานของสหประชาชาติ ได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน, สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ, องค์การเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพสตรีแห่งสหประชาชาติ, โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และการทำธุรกิจที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยงานในวันนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่า 1,800 คน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก พร้อมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้นอีกครั้ง  

ประเทศไทยในฐานะเป็นภาคีสหประชาชาติก็ได้นำหลักสิทธิมนุษยชนมาอนุวัติการไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน  

ซึ่งคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกแฝงอยู่ในคดีอาญา ไม่ได้หยิบยกขึ้นพิจารณาคดีเป็นข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ทั้งศาลยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อหาละเมิดสิทธิมนุษชน ถูกลดค่าลงเป็นไปตามฐานความผิดอาญาโดยมิได้หยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นสารัตถะ (Substance) ในการพิจารณาคดี คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกลดค่าลงเป็นเพียงการพิจารณาตามองค์ประกอบฐานความผิดตามกฎหมายอาญาเท่านั้น 

ในฐานะประเทศไทยสมาชิกของสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการจัดทำ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือแผน NAP” เพื่อดำเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือหลักการ UNGPs ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จัดทำแผน NAP ซึ่งกำหนดหน้าที่ของภาครัฐในการคุ้มครองประชาชน กำหนดหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจในการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนกำหนดหน้าที่ของทุกฝ่ายร่วมกันในการเยียวยาเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น 

การจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักความโปร่งใส และหลักการตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และมาตรฐานสากลอื่นๆ

S__15499290.jpg

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการบังคับใช้แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2566 - 2570 โดยมีเนื้อหาครอบคลุมใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 

1. ด้านแรงงาน : ที่มุ่งเน้นเข้าไปแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นต่างๆ อาทิ ปัญหาแรงงานของกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ แรงงานสตรี กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานภาคเกษตร ประมง ลูกจ้างตามฤดูกาล ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงปัญหาแรงงานค้ามนุษย์ การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ การดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพ ส่งเสริมสวัสดิการแรงงาน สิทธิในการรวมตัวจัดตั้งสหภาพ รวมถึงการทบทวนกฎหมาย ระเบีียบ นโยบาย และมาตรการต่่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนมาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานโดยรอบด้านตลอดห่วงโซ่อุปทาน  

2. ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : ด้านนี้จะเข้าไปดูแลสนับสนุนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นไปอย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

รวมถึงแก้ไขปัญหา เช่น การละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยในเรื่องสุขอนามัย มลพิษ การกำจัดของเสียและกากของเสียอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ การนำเข้ากากของเสียเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้แล้ว ยังเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการรับรองสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม

3. ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน : โดยจะดำเนินการทบทวน ปรับปรุง กฎหมาย กลไก และมาตรการ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องปิดปากกลุ่มประชาชนต่างๆ หรือที่เรียกว่าการดำเนินคดี SLAPP รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแก่ภาคธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ และสังคมในวงกว้าง 

4. ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ : ผ่านการพัฒนากลไกการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจ รวมถึงในบริบทการลงทุนต่างประเทศ การให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศให้ตระหนักถึงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทต้องให้ความเคารพ พัฒนากลไกการกำกับดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศให้เคารพสิทธิมนุษยชน สนับสนุนให้มีการประเมินผลกระทบสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) อีกทั้งเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD

เนื้อหาของแผนปฏิบัติการทั้ง 4 ด้านข้างต้น ถูกจัดทำขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจให้หมดไปจากประเทศไทยให้ได้  

ทั้งหมด คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงยุติธรรม ที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหประชาชาติให้เกิดขึ้นได้จริงในภาคธุรกิจ 

การประชุมในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในการเสริมสร้างความร่วมมือ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินธุรกิจจะไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องส่วนตัวเท่านั้น หากแต่ยังต้องให้ความเคารพและร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนส่วนรวมในสังคมด้วย โดยเฉพาะในยุคที่การทำธุรกิจมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเต็มไปด้วยเทคโนโลยี การเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกัน 

S__15491173.jpg

ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขอขอบคุณทุกภาคส่วนและทุกประเทศที่ร่วมกันสนับสนุนงานนี้ และหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการเร่งรัดการเคารพ ปกป้อง และเข้าถึงการเยียวยาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตสำหรับทุกคน 

การประชุมครั้งนี้จะเน้นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ และมีผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายควรต้องร่วมกันดำเนินการเพืออำนายความสะดวกในการเข้าถึงการเยียวยา 

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ ๖ “การเยียวยา – เชื่อมช่องว่างและเร่งการเข้าถึง” อย่างเป็นทางการ และขอให้การประชุมฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ