เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็นต้องไม่เกินร้อยละ 70
ทั้งนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
โดยการทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี
หากไล่เรียงหนี้สาธารณะของไทย นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อปี 2557 จะพบว่าหนี้สาธารณะไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 5,430,560.04 ล้านบาท คิดเป็น 42.19 ต่อ GDP กระทั่งต่อมาปี 2557 หลังการยึดอำนาจ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 5,690,814.11 ล้านบาท คิดเป็น 43.33 ต่อ GDP
หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 เมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ 7,848,155.88 ล้านบาท คิดเป็น 49.35% ต่อ GDP จากที่ปี 2562 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,901,801.55 ล้านบาท คิดเป็น 41.04% ต่อ GDP
ปัจจุบันข้อมูล ณ เดือน ก.ค.2564 หนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ 8,909,063.78 ล้านบาท คิดเป็น 55.59 % ต่อ GDP ตัวเลขนี้ ยังไม่รวมการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้าน) ในบางส่วน ที่มีแผนงานการกู้ล่าช้า
และการกู้เงินอีก 5 แสนล้าน (พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ) เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด รวมถึงการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2565 อีก 7 แสนล้านด้วย
สำหรับการปรับเพดานหนี้สาธารณะ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ต่อ GDP นั้น จะทำให้รัฐบาลมีช่องในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท
ปี 2551 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 3,408,231.40 ล้านบาท คิดเป็น 34.95 % ต่อ GDP
ปี 2552 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 4,001,942.00 ล้านบาท คิดเป็น 42.36 % ต่อ GDP
ปี 2553 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 4,230,311.69 ล้านบาท คิดเป็น 39.83 % ต่อ GDP
ปี 2554 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 4,448,294.60 ล้านบาท คิดเป็น 39.12 % ต่อ GDP
ปี 2555 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 4,937,238.33 ล้านบาท คิดเป็น 41.93 % ต่อ GDP
ปี 2556 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 5,430,560.04 ล้านบาท คิดเป็น 42.19 % ต่อ GDP
ปี 2557 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 5,690,814.11 ล้านบาท คิดเป็น 43.33 % ต่อ GDP
ปี 2558 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 5,783,323.19 ล้านบาท คิดเป็น 42.56 % ต่อ GDP
ปี 2559 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 5,988,386.53 ล้านบาท คิดเห็น 41.75 % ต่อ GDP
ปี 2560 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,369,331.31 ล้านบาท คิดเป็น 41.78 % ต่อ GDP
ปี 2561 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,780,953.22 ล้านบาท คิดเห็น 41.95 % ต่อ GDP
ปี 2562 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,901,801.55 ล้านบาท คิดเป็น 41.04% ต่อ GDP
ปี 2563 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 7,848,155.88 ล้านบาท คิดเป็น 49.35% ต่อ GDP
ก.ค. 2564 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 8,909,063.78 ล้านบาท คิดเป็น 55.59 % ต่อ GDP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง